การเลี้ยงหมูในประเทศไทย

การเลี้ยงหมูของเกษตรกรไทยแต่เดิมเป็นการเลี้ยงแบบหลังบ้านเป็นส่วนใหญ่ คือ ผู้เลี้ยงหมูประเภทนี้เลี้ยงไว้โดยให้กินเศษอาหารที่มีอยู่หรือที่เก็บรวบรวมได้ตามบ้าน ดังนั้นผู้เลี้ยงประเภทนี้จึงเลี้ยงหมูเป็นจำนวนมากไม่ได้จะเลี้ยงไว้เพียงบ้านละ ๒-๓ ตัวเท่านั้น ผู้เลี้ยงเป็นอาชีพจริง ๆ มีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย ผู้เลี้ยงไว้เป็นจำนวนมาก ๆ ได้ มักทำอาชีพอื่น ๆ อยู่ด้วย เช่น เป็นเจ้าของโรงสี เป็นต้น ผู้เลี้ยงหมูแต่ก่อนมักเป็นชาวจีนรองลงมาก็เป็นผู้เลี้ยงชาวไทยเชื้อสายจีน

การเลี้ยงหมูในประเทศไทย

การเลี้ยงหมูของเกษตรกรไทยแต่เดิมเป็นการเลี้ยงแบบหลังบ้านเป็นส่วนใหญ่ คือ ผู้เลี้ยงหมูประเภทนี้เลี้ยงไว้โดยให้กินเศษอาหารที่มีอยู่หรือที่เก็บรวบรวมได้ตามบ้าน ดังนั้นผู้เลี้ยงประเภทนี้จึงเลี้ยงหมูเป็นจำนวนมากไม่ได้จะเลี้ยงไว้เพียงบ้านละ ๒-๓ ตัวเท่านั้น ผู้เลี้ยงเป็นอาชีพจริง ๆ มีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย ผู้เลี้ยงไว้เป็นจำนวนมาก ๆ ได้ มักทำอาชีพอื่น ๆ อยู่ด้วย เช่น เป็นเจ้าของโรงสี เป็นต้น ผู้เลี้ยงหมูแต่ก่อนมักเป็นชาวจีนรองลงมาก็เป็นผู้เลี้ยงชาวไทยเชื้อสายจีน

วิธีการเลี้ยงหมูแต่เดิมมายังล้าสมัยอยู่มากจะเห็นได้ว่าผู้เลี้ยงบางคนยังไม่มีคอกเลี้ยงหมูเลย หมูจึงถูกปล่อยให้กินอยู่ตามลานบ้าน ใต้ถุนเรือนหรือตามทุ่ง หรือผูกติดไว้กับโคนเสาใต้ถุนบ้าน เป็นต้น ส่วนที่ดีขึ้นมาหน่อยก็มีคอกเลี้ยงแต่พื้นคอกก็ยังเป็นพื้นดินอยู่นั่นเอง พื้นคอกที่ทำด้วยไม้และคอนกรีตมีน้อยมาก อาหารที่ใช้เลี้ยงหมูแต่เดิมนอกจากเศษอาหารตามบ้านแล้วอาหารหลักที่ใช้ก็ คือ รำข้าวและหยวกกล้วยนำมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วตำให้ละเอียดอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้อาจมีผักหญ้าที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ เช่น จอก ผักตบชวา ผักบุ้ง สาหร่าย และผักขม เป็นต้น นำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมกับรำข้าวและปลายข้าวที่ต้มสุกแล้วเติมน้ำลงในอาหารที่ผสมแล้วนี้ในปริมาณที่พอเหมาะแล้วจึงให้หมูกิน หมูที่เลี้ยงในสมัยก่อนเป็นหมูพันธุ์พื้นเมืองหมูเหล่านี้มีขนาดตัวเล็กและเจริญเติบโตช้าเนื่องจากไม่มีใครสนใจปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้น หมูพันธุ์พื้นเมืองจึงถูกปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองโดยไม่มีการคัดเลือก นอกจากนี้ผู้เลี้ยงมักจะคัดหมูตัวที่โตเร็วออกขายเอาเงินไว้ก่อนจึงเหลือแต่หมูที่ลักษณะไม่ดีนำมาใช้ทำพันธุ์ต่อไป

ปัจจุบันการเลี้ยงหมูนับว่าก้าวหน้ากว่าแต่ก่อนมาก การเลี้ยงดูตลอดจนการปรับปรุงพันธุ์มีการศึกษาและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แต่เดิมหมูให้ลูกได้ปีละหนึ่งครั้งลูกที่ให้แต่ละครั้งก็ไม่แน่นอนบางครั้งก็น้อยบางครั้งก็มาก ครั้งใดที่ให้ลูกมากอัตราการตายของลูกก็จะสูง ลูกที่คลอดออกมาแล้วต้องใช้เวลาเลี้ยงนานนับปีจึงส่งขายได้ ส่วนปัจจุบันหมูสามารถให้ลูกได้ถึง ๕ ครอกใน ระยะเวลา ๒ ปี แต่ละครอกมีลูกหมูหลายตัวอัตราการเลี้ยงให้อยู่รอดก็สูงลูกหมูหลังคลอดใช้ระยะเวลาเลี้ยงไปจนถึงน้ำหนักส่งตลาดเพียง ๕ เดือนกว่าเท่านั้น นอกจากนี้ประสิทธิภาพในการเปลี่ยนสารอาหารของร่างกายหมูในปัจจุบันสูงกว่าแต่ก่อนมาก โดยสามารถเปลี่ยนอาหารที่กินเข้าไปประมาณ ๒.๕ – ๓ กิโลกรัม เป็นเนื้อได้ ๑ กิโลกรัม ซึ่งแต่เดิมต้องใช้อาหาร ๕-๖ กิโลกรัม จึงจะได้เนื้อ ๑ กิโลกรัม แหล่งที่มีการเลี้ยงหมูกันมากในประเทศไทย ได้แก่ แถบบริเวณภาคกลางของประเทศโดยเฉพาะที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี ชลบุรี สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นต้น หมูที่เลี้ยงทางแถบภาคกลางนี้จะไม่มีพันธุ์พื้นเมืองเลยเป็นหมูพันธุ์ต่างประเทศทั้งหมด หมูพันธุ์ต่างประเทศที่นิยมเลี้ยงกัน ได้แก่ พันธุ์แลนด์เรซ พันธุ์ลาร์จไวต์ พันธุ์ดูร็อก และหมูพันธุ์ลูกผสมต่าง ๆ เป็นต้น

แหล่งข้อมูล
ข้อมูลจากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 18 เรื่องที่ 9 ลิขสิทธิ์เป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=18&chap=9&page=t18-9-infodetail02.html
https://www.trueplookpanya.com/blog/content/60538

Share

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ (เรียนรู้เพิ่มเติม)