การเลี้ยงหมู

know-about-pig

หมูเป็นสัตว์เลี้ยงที่รู้จักกันดีมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สุกร การเลี้ยงหมูมีมาเป็นเวลานานหลายพันปี ประเทศจีนเป็นชาติแรกที่เริ่มเลี้ยงหมูต่อมาได้แก่ ประเทศอังกฤษ ในปัจจุบันการเลี้ยงหมูมีแพร่หลายทั่วโลก หลายประเทศในแถบเอเซีย ยุโรป และอเมริกา ได้ปรับปรุงการเลี้ยงหมูจนได้ผลดีสามารถนำผลิตผลจากหมูมาเป็นสินค้าส่งออก ไส้กรอก แฮม เบคอน และอาหารกระป๋องอื่น ๆ ที่ทำจากเนื้อหมูเป็นที่นิยมรับประทานกันทั่วไป เนื้อหมูอุดมด้วยโปรตีนและไขมันมีประโยชน์ต่อร่างกายมากใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิดเราควรทำให้สุกด้วยการลวก ต้ม หรือทอดก็ได้เพื่อป้องกันพยาธิที่อาจมีอยู่ในเนื้อหมูดิบ

หมูเป็นสัตว์สี่เท้าที่นิยมเลี้ยงกันมากเพราะเลี้ยงง่ายโตเร็วและให้ลูกเร็ว หมูมีสีขนและรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์หมูที่นิยมเลี้ยงแต่ดั้งเดิมเป็นหมูพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่มีรูปร่างอ้วน เตี้ย สะโพกเล็ก หลังแอ่น และท้องยานลากดิน ลำตัวมีสีขาวและสีดำปนกัน หมูพันธุ์พื้นเมืองบางชนิดมีหนังหยาบและย่นเมื่อโตเต็มที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเลี้ยงหมูไว้ใต้ถุนบ้านหรือในบริเวณใกล้เคียง ปล่อยให้หมูอยู่บนลานดินหรือลานซีเมนต์มีบางบ้านเท่านั้นที่สร้างคอกให้หมูอยู่ การเลี้ยงเป็นแบบง่าย ๆ โดยเอาเศษอาหารต่าง ๆ ที่เหลือจากคนมารวมผสมให้หมูกิน หมูกินจุและกินอาหารไม่เลือกชนิดนอกจากนั้นผู้เลี้ยงยังใช้ผักที่หาได้ทั่วไป เช่น ผัก บุ้ง ผักตบชวา จอก แหน หรือหยวกกล้วยสับละเอียดผสมกับรำข้าวและน้ำเป็นอาหารให้หมูกิน เมื่อหมูโตจะนำไปขายฆ่าเพื่อเอาเนื้อเป็นอาหารหรือนำหมูตัวผู้และหมูตัวเมียมาผสมพันธุ์เพื่อให้มีลูกหมูมาเลี้ยงต่อไป

ในปัจจุบันการเลี้ยงหมูก้าวหน้าไปจากเดิมมากมีการสั่งซื้อพันธุ์ต่างประเทศเข้ามาหลายพันธุ์ เช่น หมูพันธุ์แลนด์เรซที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเดนมาร์กและหมูพันธุ์ลาร์จไวต์ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ เป็นต้น หมูพันธุ์ที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศได้รับความนิยมมากกว่าหมูพันธุ์พื้นเมืองเพราะมีรูปร่างลักษณะดีสามารถเพิ่มน้ำหนักได้เร็วกว่าหมูพันธุ์พื้นเมือง เนื้อมีไขมันน้อยขายได้ราคาดี วิธีการเลี้ยงและการผสมพันธุ์ได้รับการปรับปรุงขึ้นมาก มีการสร้างคอกและโรงเรือนให้หมูอยู่ โรงเรือนบางแห่งสร้างอยู่บนดินเทพื้นด้วยซีเมนต์โดยเทให้ลาดต่ำออกไปทางด้านหลังเพื่อสะดวกในการทำความสะอาดกวาดเก็บขี้หมู บางแห่งยกพื้นสูงช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ดีเพื่อให้หมูสมบูรณ์แข็งแรงผู้เลี้ยงให้อาหารผสมที่มีคุณค่าและจัดให้หมูได้ฉีดวัคซีนตามกำหนดการคัดเลือกพันธุ์หมูที่ดีมาผสมทำให้ลูกหมูมีโอกาสรอดตายสูง การเลี้ยงหมูทุกวันนี้จึงเปลี่ยนจากการเลี้ยงแบบหลังบ้าน บ้านละ ๒-๓ ตัว มาเป็นการเลี้ยงหมูจำนวนมากเพื่อการค้า

หมูมีกำเนิดเดิมมาจากหมูป่าในแถบยุโรป อเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ชาวจีน และชาวไทยนิยมเลี้ยงหมูกันมาก ผู้เลี้ยงหมูในสมัยก่อนมีวิธีเลี้ยงแบบง่าย ๆ นอกจากเศษอาหารในครัวเรือน รำข้าวและหยวกกล้วยสับละเอียดยังนำเอาผักหญ้าต่าง ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่นมาสับให้ละเอียดผสมกับรำข้าว กากถั่วเหลืองหรือกากถั่วลิสงและน้ำให้หมูกิน หมูที่ชาวบ้านเลี้ยงในสมัยดั้งเดิมเป็นหมูพันธุ์พื้นเมือง ตัวเล็ก เติบโตช้า ใช้เวลานานในการขุนให้อ้วน ให้ซากที่มีเนื้อน้อยมันมาก หมูพันธุ์พื้นเมืองที่เลี้ยงกันทั่วไป ได้แก่ หมูพันธุ์ควาย หมูพันธุ์ราด หมูพันธุ์พวง และหมูพันธุ์ไหหลำ ที่มีถิ่นเดิมมาจากประเทศจีน

ในปัจจุบันการเลี้ยงหมูได้พัฒนาขึ้นมากทั้งการเลี้ยงดู การให้อาหารและการปรับปรุงพันธุ์มีการสร้างโรงเรือนเลี้ยงหมู บ้านเมืองเรามีอากาศร้อนโรงเรือนสำหรับหมูควรโปร่งมีหลังคาสูงเพื่อให้อากาศระบายได้ดีตลอดเวลา ภายในโรงเรือนอาจแบ่งเป็นคอกมีห้องเก็บอาหารและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ อาหารสำหรับหมูได้รับการปรับปรุงให้มีคุณภาพสูงเป็นอาหารผสมที่มีประโยชน์มีสารอาหารครบ ๕ หมู่ ได้แก่ น้ำ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ พันธุ์ของหมูเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้เลี้ยงและผู้บริโภค ลักษณะของอาหารที่หมูกิน และตามความประสงค์ของผู้ผสมพันธุ์ การนำหมูพันธุ์ดีหลายพันธุ์จากต่างประเทศมาผสมพันธุ์ทำให้เกิดหมูพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้น หมูพันธุ์ต่างประเทศที่นิยมเลี้ยงกันมากและได้ผลดีมีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์แลนด์เรซ พันธุ์ลาร์จไวต์ พันธุ์ดู ร็อกและพันธุ์ลูกผสมต่าง ๆ หมูพันธุ์ต่างประเทศได้รับความนิยมมากกว่าหมูพันธุ์พื้นเมืองเพราะเติบโตเร็วมีคุณภาพของซากดี (คุณภาพของซากที่ดี คือ ต้องมีเนื้อแดงมาก มันน้อย ทำให้ขายได้ราคาสูง) สามารถเปลี่ยนอาหารที่กินเข้าไปให้เป็นเนื้อได้มากจึงขุนให้อ้วนได้ง่าย หมูอายุ ๕-๖ เดือน เมื่อได้อาหารเต็มที่จะมีน้ำหนักราว ๙๐-๑๐๐ กิโลกรัมก็ขายส่งตลาดได้ คุณภาพซากมีเนื้อแดงมาก ไขมันบาง หมูหนุ่มหมูสาวที่สมบูรณ์ก็อาจคัดไว้สำหรับผสมพันธุ์เพื่อเอาลูกเลี้ยงต่อไป

พ่อหมูและแม่หมูที่นำมาใช้ทำพันธุ์ควรมีลักษณะดีไม่เคยเป็นโรคติดต่อร้ายแรงมาก่อนห้ามนำหมูป่วยหรือหมูที่เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนมาผสมพันธุ์ โดยปกติพ่อหมูที่ใช้ผสมพันธุ์ควรมีอายุประมาณ ๘ เดือน หนักประมาณ ๘๐-๙๐ กิโลกรัม สำหรับพ่อหมูพันธุ์ต่างประเทศควรหนักประมาณ ๑๑๕ กิโลกรัม แม่หมูอายุประมาณ ๗-๘ เดือน ต้องมีโครงสร้างร่างกายแข็งแรงมีเต้านมที่สมบูรณ์อย่างน้อย ๑๒ เต้า แม่หมูอาจให้ลูกได้ถึง ๕ ครอกในระยะเวลา ๒ ปี และแต่ละครอกประมาณ ๘-๑๒ ตัว ในชีวิตของแม่หมูตัวหนึ่งสามารถมีลูกได้ ๘-๑๐ ครอก และให้ลูกได้ถึง ๗๐-๘๐ ตัว ลูกหมูจะอยู่ในท้องแม่ประมาณ ๑๑๔ วัน (๓ เดือน ๓ สัปดาห์ ๓ วัน) จะเร็วหรือช้ากว่านี้ประมาณไม่เกิน ๓ วัน ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่สมบูรณ์จะมีโอกาสรอดชีวิตได้มาก การผสมพันธุ์ควรทำในตอนเช้าหรือเย็นขณะที่ อากาศไม่ร้อนอบอ้าว แม่หมูในระหว่างผสมพันธุ์อุ้มท้องและคลอดลูกต้องได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีได้อาหารอย่างเพียงพอควรแยกคอกให้อยู่คอกที่จะออกลูกต้องสะอาดอาจปูด้วยฟางข้าวหรือหญ้า เพื่อพื้นคอกจะได้ไม่แข็งกระด้างทั้งยังช่วยให้ความอบอุ่นแก่ลูกหมูที่เกิดใหม่ด้วย ลูกหมูหลังคลอดควรได้กินนมแม่ระยะเวลาที่สมควรหย่านม คือ เมื่อลูกหมูมีอายุราว ๔ สัปดาห์หรือเมื่อมีน้ำหนักมากกว่า ๕ กิโลกรัมขึ้นไป การให้ลูกหมูหย่านมเมื่อถึงเวลาสมควรเป็นการช่วยไม่ให้แม่หมูมีร่างกายทรุดโทรมมากสามารถผสมพันธุ์ใหม่ได้ เมื่อลูกหมูโตควรได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนดเป็นระยะไป เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เกิดกับหมูดังนี้
๖-๗ สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์หมู
๘-๙ สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย

สำหรับหมูที่ใช้เป็นพ่อและแม่พันธุ์ซึ่งเป็นหมูที่มีชีวิตอยู่หลายปีจะฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์หมูปีละครั้งและฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยปีละ ๒ ครั้ง (๖ เดือนฉีด ๑ ครั้ง) ผู้ทำฟาร์มเลี้ยงหมูเมื่อมีลูกหมูจำนวนมากสามารถคัดหมูตัวผู้และตัวเมียที่มีรูปร่างและคุณลักษณะดีไว้ส่วนหนึ่งเพื่อนำมาเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ต่อไป ส่วนที่เหลืออาจจะแบ่งขายเมื่อลูกหมูหย่านมหรือจะขุนไว้ขายเองก็ได้ ในประเทศไทยมีการเลี้ยงหมูอยู่ทั่วทุกภาคมีฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่ในจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และชลบุรี เป็นต้น

แหล่งข้อมูล

ข้อมูลจากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 18 เรื่องที่ 9 ลิขสิทธิ์เป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=18&chap=9&page=chap9.htm
https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/60535/-agrliv-agr-

Share

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ (เรียนรู้เพิ่มเติม)