“ชัยสุภาฟาร์ม” ลดความเสี่ยงด้านตลาดด้วยคอนแทรคฟาร์ม

หลายคนอาจมองว่าการทำธุรกิจฟาร์มสุกรจะต้องลงทุนสูงและพ่วงมาพร้อมกับการแบกรับความเสี่ยงที่สูงลิ่ว อีกทั้งยังมีปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งเรื่องโรคระบาด การจัดการของเสียภายในฟาร์ม และการหาตลาดรองรับ แต่สำหรับ “ชัยสุภาฟาร์ม” ฟาร์มสุกรจากจังหวัดตาก หนึ่งในฟาร์มภายในระบบคอนแทรคฟาร์มของซีพีเอฟ กลับมองว่าถึงแม้อาชีพนี้จะต้องลงทุนสูงแต่การเข้าร่วมคอนแทรคฟาร์มจะช่วยลดความเสี่ยงลงแทบทุกทาง ทั้งเรื่องการหาวัตถุดิบ พันธุ์หมู อาหารหมู และสำคัญที่สุดคือไม่ต้องเสี่ยงกับการหาตลาด อีกทั้งหากมีการจัดการที่ดีก็ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเสียภายในฟาร์มได้อีกด้วย

คุณวีรุตม์ ชัยสุภา หรือคุณหนุ่ย ผู้เป็นเจ้าของชัยสุภาฟาร์ม ให้ข้อมูลว่า จุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มสุกรเกิดขึ้นในช่วงปีพ.ศ. 2546 เนื่องจากมีคนเสนอขายฟาร์มสุกรให้กับพี่ชายของตน พี่ชายจึงชักชวนให้มาทำธุรกิจร่วมกัน ในตอนนั้นแม้กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีปีสุดท้ายที่กรุงเทพ แต่ก็ตัดสินใจลองดู เพราะคิดถึงอนาคตว่าหากมีธุรกิจเป็นของตัวเองย่อมมีความมั่นคงและสามารถสร้างรายได้มากกว่าการทำงานบริษัท จึงได้ย้ายมายังจังหวัดตากและเริ่มเรียนใหม่อีกครั้งจนจบปริญญาโท สาขาธุรกิจเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้เรื่องการทำฟาร์มสุกร มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 16 ปี


“เราเริ่มต้นการทำฟาร์มจาก 2 โรงเรือนและสุกรจำนวน 1,200 ตัว ช่วงแรกเรียกได้ว่าต้องล้มลุกคลุกคลานจนเหนื่อยกว่าจะประสบความสำเร็จ พบปัญหามากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบน้ำ การขาดแคลนแรงงาน และการจัดการภายในฟาร์มที่ยังคงเป็นฟาร์มระบบเปิด กิจวัตรประจำวันในช่วงนั้นก็จะวนเวียนอยู่กับการไปเรียนในช่วงเช้าและกลับมาดูแลฟาร์มในช่วงเย็น จนสั่งสมประสบการณ์ได้ 2 ปีก็เริ่มขยายโรงเรือนเพิ่มอีก 1 โรงเรือน จากนั้นในปี พ.ศ. 2550 ก็ได้ขยายพื้นที่ฟาร์มออกไปอีก 50 ไร่ ก่อนเปลี่ยนมาทำฟาร์มระบบปิดและวางระบบบำบัดของเสียภายในฟาร์มเพื่อแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวน”

หลังจากการขยายตัวครั้งนี้ ชัยสุภาฟาร์มก็สามารถดำเนินงานต่อไปได้ดียิ่งขึ้น สุกรภายในโรงเรือนแข็งแรงสมบูรณ์ ผลผลิตที่ได้ก็เป็นไปตามมาตรฐาน จนในปี พ.ศ. 2553-2554 ทางฟาร์มต้องรับมือกับวิกฤติน้ำท่วมที่เข้ามาในฟาร์มจนเกิดความเสียหาย สุกรลอยน้ำตายกว่าครึ่ง ทางฟาร์มจึงตัดสินใจขยายฟาร์มเพิ่มเป็น 120 ไร่ ไปยังพื้นที่ใกล้เคียงที่มีพื้นที่สูงกว่า ก่อนขุดดินเสริมเป็นคันรอบฟาร์มเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และถือโอกาสคุยกับทางซีพีเอฟเรื่องการขยายการเลี้ยงสุกรเพิ่มเป็น 10,000 ตัว นับเป็นการขยายฟาร์มครั้งใหญ่อีกครั้งของชัยสุภาฟาร์ม ก่อนที่จะขยายชัยสุภาฟาร์มไปยังจังหวัดเพชรบรูณ์อีกด้วยในปัจจุบัน

เพิ่มคุณภาพ ลดปัญหา ด้วยการบริหารจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ

ปัจจุบันชัยสุภาฟาร์ม จังหวัดตาก มีโรงเรือนทั้งหมด 13 หลัง และ 8 หลังที่จังหวัดเพชรบรูณ์ โดยปรับเปลี่ยนจากโรงเรือนระบบเปิดมาเป็นโรงเรือนปิดที่สามารถปรับอากาศภายในได้ เรียกว่า EVAP ตามมาตรฐานของบริษัททั้งหมด พร้อมวางระบบบำบัดของเสียภายในฟาร์มตามโรงเรือนเพื่อส่งมูลสุกรมายังบ่อหมักแก๊สชีวภาพเพื่อผลิตแก๊สจากมูลสุกรและเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในฟาร์ม ซึ่งสามารถนำมาใช้ในระบบปั่นไฟของฟาร์มได้ถึง 100 % ส่งผลให้สามารถลดค่าไฟจากหลักแสนเหลือเพียงหลักพันต่อเดือนเท่านั้น

แต่ละโรงเรือนจะประกอบด้วยคอกหมูจำนวน 40 คอก จุสุกรได้ 700 ตัว/โรงเรือน สามารถเลี้ยงสุกรได้ 2 รอบ/ปี โดยแต่ละรอบจะใช้เวลา 5 เดือน หลังจากหมดรอบเพื่อตัดวงจรของโรคระบาดในสุกรแต่ละรุ่น จึงต้องพักโรงเรือนและอุปกรณ์ทุกอย่างเป็นเวลา 1 เดือนถึงค่อยเริ่มเลี้ยงรอบต่อไป รวมทั้งมีระบบฉีดสเปรย์ทำความสะอาดทั่วทั้งโรงเรือนและให้วัคซีนตามโปรแกรมที่ทางบริษัทวางไว้

“ด้วยข้อดีของระบบคอนแทรคฟาร์มทำให้เราไม่ต้องกังวลถึงเรื่องของตลาด ซึ่งจากการที่เคยลองคำนวณ แม้ว่าการเลี้ยงเองจะมีรายได้มากกว่าการทำคอนแทรกฟาร์มเป็นเท่าตัว แต่เราก็ต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องการตลาดที่มีการขึ้นลงเป็นเท่าตัวเช่นกัน เนื่องจากหมูจะมีระยะตลาดประมาณ 7 ปี ที่จะราคาขึ้น 4 ปี ก่อนราคาลงอีก 3 ปี วนอยู่แบบนี้ ยิ่งช่วงไหนที่ราคาตกแล้วไม่มีเงินทุนสำรอง หลายฟาร์มที่เคยรู้จักถึงขั้นต้องปิดกิจการไปเลยก็มี”

อีกหนึ่งปัญหาของการทำฟาร์มสุกรคงหนีไม่พ้นเรื่องของกลิ่น เพื่อไม่ให้กระทบกับสภาพแวดล้อมของชุมชนรอบข้างการวางระบบบำบัดของเสียภายในฟาร์มจึงเป็นสิ่งสำคัญ ระบบบำบัดของเสียภายในฟาร์มที่นิยมนำมาใช้จะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ

  • แบบแรกเรียกว่าบ่อหมักช้าแบบโดมคงที่ (Fixed dome digester) มีลักษณะเป็นบ่อปูนทรงกลมฝังอยู่ใต้ดิน ส่วนที่เก็บก๊าซมีลักษณะเป็นโดม
  • แบบที่ 2 คือบ่อแบบคัฟเวอร์ ลากูน (Covered Lagoon) เป็นการนำโพลีเอทิลีน Polyethylene หรือ พีอี (PE) มาคลุมบ่อที่มีมูลสุกรเพื่อให้มีจุลินทรีและเกิดเป็นแก๊สมีเทน
  • ส่วนแบบที่ 3 เป็นการนำ 2 รูปแบบแรกมาประยุกต์ใช้ร่วมกันเรียกว่าระบบปลั๊กโฟล์ว (Plug Flow digester) มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูฝังในดิน ส่วนที่ใช้เก็บแก๊สจะใช้ผ้าพลาสติกที่เรียกว่า red-mud-plastic คลุมส่วนบนของบ่อหมักไว้ ข้อดีของบ่อแบบนี้คือเนื่องจากลักษณะของบ่อเป็นแนวดิ่ง จึงทำให้ระยะเวลาในการหมักของเสียมากขึ้นทำให้ปริมาณแก๊สที่เกิดขึ้นมีมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังทำให้มีระบบท่อระบายต่อจากหลังฟาร์มทั้งหมดทำให้สามารถเดินระบบระบายมูลสุกรไว้ใต้ดินเพื่อปัญหากลิ่นรบกวน

“ระบบที่ทางฟาร์มเลือกใช้คือระบบปลั๊กโฟล์ว โดยจะมีการวางท่อใต้ดินต่อมายังหลังฟาร์มเพื่อตัดปัญหาเรื่องกลิ่น ของเสียภายในฟาร์มจะไหลตามท่อออกมายังบ่อเก็บขนาด10 เมตร ลึกประมาณ 6 เมตร ก่อนทำการปั๊มสูบเข้าไปในบ่อหมักแก๊ส ซึ่งพอหมักครบ 49 วันก็จะเกิดแก๊สที่เราสามารถดึงมาใช้ในระบบปั่นไฟได้ และเนื่องจากมีของเสียไหลเข้าบ่อทุกวันก็มีสิทธิที่บ่อจะตื้นเขิน จึงต้องมีการชักกากออกมาเพื่อไม่ให้ระบบตัน”

ต่อยอดเพิ่มมูลค่า เปลี่ยนของเสียจากฟาร์มให้เป็นเงิน

จากกากที่ตั้งใจทิ้งเพื่อไม่ให้ระบบการบำบัดของเสียภายในฟาร์มอุดตัน ทางฟาร์มได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่สามารถนำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้ เมื่อนำกากขึ้นมาจากบ่อให้นำไปตากยังลานตากให้แห้ง ในช่วงแรกที่ลองทำลานตากมีพื้นที่เพียง 100×6 เมตรเท่านั้น สามารถตากได้รอบละ 5 ตัน แต่ปัจจุบันมีการขยายลานตากออกไปอีก 5 เท่าเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า หลังจากตากจนแห้งก็จะนำไปบดละเอียดพร้อมบรรจุลงกระสอบ กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีที่ใช้บำรุงพืชพรรณต่าง ๆ ให้เจริญเติบโต นับเป็นอีกช่องทางสร้างรายได้เสริมของทางฟาร์ม

สำหรับตลาดของมูลสุกรตากแห้ง ลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ที่จังหวัดตากและเชียงใหม่ ซึ่งมีจำนวนการซื้อครั้งละหลายสิบตัน โดยการซื้อแต่ละรอบลูกค้าจะต้องโทรเข้ามาจองคิวเพื่อยืนยันจำนวน เพราะมูลสุกรตากแห้งต้องใช้เวลาตาก 7-10 วัน ส่วนราคาขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งทางฟาร์มสามารถผลิตได้สูงสุด 25 ตัน/สัปดาห์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

“ตอนแรกเราไม่คิดจะขายเอากำไรแค่อยากให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพราคาถูก ลูกค้าส่วนมากจะมาจากชนเผ่ามูเซอ และเกษตรกรผู้ปลูกผักในอำเภอพบพระ โดยเขาจะมารับจากหน้าฟาร์มของเราโดยตรง นอกจากนี้เกษตรกรที่ส่งสินค้าให้ตลาดไทก็มีมาคุยกับเราว่าเมื่อก่อนเคยใช้ปุ๋ยเคมีต้นทุนเป็นแสนเลย แต่พอเปลี่ยนมาใช้มูลสุกรตากแห้งของทางฟาร์มต้นทุนลงเหลือเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ จนมีการบอกต่อทีนี้ผลิตแทบไม่ทันเลยทีเดียว สำหรับใครที่สนใจแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการทำฟาร์ม หรือสนใจเลือกซื้อปุ๋ยมูลสุกรชีวภาพที่ได้การรับรองจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานนโยบายและพลังงาน (สนพ.) ในราคาส่งจากฟาร์ม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook ปุ๋ยมูลสุกร โดย ชัยสุภาฟาร์ม โทร.08-6735-9495” คุณหนุ่ยกล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลโดย : https://www.facebook.com/agriculturemag/posts/2155455744492007?__tn__=-R

Share

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ (เรียนรู้เพิ่มเติม)