สระฐินฟาร์ม” ฟาร์มเลี้ยงหมูขุน แบบประกันรายได้ หนึ่งในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรขุนแก่เกษตรกรรายย่อย ซีพีเอฟ เปลี่ยนชาวนาเป็นคนเลี้ยงหมู…สร้างรายได้ปีละล้าน ด้วยเทคโนโลยีสร้างอาชีพยั่งยืน

ชาวนาที่ต้องตรากตรำกรำแดดฝน หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน คือภาพในอดีตของ สระฐิน พิมพ์โพชา ที่พอจำความได้ก็จับเคียวเกี่ยวข้าวเป็นแล้ว จนแทบไม่มีความคิดว่าจะทำอาชีพอื่นได้ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาเห็นเพื่อนบ้านตั้งฟาร์มเลี้ยงหมู ซึ่งตอนแรกเขาก็ยังไม่สนใจ จนเมื่อฟาร์มขยายจากหลังแรกสู่หลังที่สอง สระฐินจึงเริ่มอยากรู้ว่าทำไมเขาถึงทำได้ 

“ผมทำนาเกี่ยวข้าวอยู่ที่นาที่ติดกับฟาร์มหมูของนายตำรวจ ก็สงสัยว่าเขาขยายฟาร์มเพิ่มในเวลาไม่นาน จึงเข้าไปขอความรู้จากทางฟาร์มและปรึกษากับสัตวบาลของซีพีเอฟด้วย พร้อมทั้งได้ไปดูฟาร์มหมูของเพื่อนเกษตรกร ตอนนั้นผมถามทุกอย่างที่สงสัยทำให้รู้ระบบทุกอย่าง และมองเห็นโอกาสกับความเป็นไปได้ของอาชีพจึงตัดสินใจเปลี่ยนที่นาเป็นฟาร์มหมูทันที” สระฐิน กล่าวถึงที่มาของ “สระฐินฟาร์ม” ตำบลนาดี  อำเภอนาดี  จังหวัดปราจีนบุรี ฟาร์มเลี้ยงหมูขุน แบบประกันรายได้ ในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรขุนแก่เกษตรกรรายย่อย กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ

สระฐิน บอกว่า ก่อนจะเริ่มต้นนั้นเขากลัวว่าจะไม่สามารถกู้เงินกับธนาคารมาลงทุนได้ เพราะตนเองเป็นเพียงชาวนาที่ไม่ได้มีเครดิตอะไร แต่ก็ได้ตัวเทนจากซีพีเอฟช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้มีเงินในการเริ่มต้นอาชีพ จากนั้นจึงได้ทำการแบ่งพื้นที่นา 8 ไร่ จากจำนวน 80 ไร่ที่มีอยู่ นำมาปรับพื้นที่ทำเป็นฟาร์มหมูมาตรฐานในระบบอีแวป เมื่อปี 2548 จำนวน 1 โรงเรือน เลี้ยงหมูขุน 700 ตัว 

ช่วงแรกของการเลี้ยงหมูสระฐินบอกว่าเขาต้องเรียนรู้หลายอย่าง เพราะที่ผ่านมาเคยแต่ทำนาไม่เคยเลี้ยงหมูมาก่อน แต่ทั้งหมดก็ไม่เกินความพยายามของตนเอง เขาเปิดรับความรู้และเทคนิควิชาการที่สัตวบาลของบริษัทมาถ่ายทอด พยายามค้นคว้าข้อมูลใหม่ๆด้วยตนเอง ทุกครั้งที่สัตวแพทย์มาตรวจเยี่ยมฟาร์มเขาก็จะคอยซักถามข้อมูลความรู้อยู่เสมอ ทำให้การเลี้ยงหมูพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงมีรายได้ที่แน่นอน ในปี 2550 เขาจึงตัดสินใจสร้างโรงเรือนเลี้ยงหมูเพิ่มอีก 1 หลัง ความจุ 650 ตัว โดยให้พี่ชายมาดูช่วยกันดูแล 

“ผมเคยสงสัยว่าทำไมเพื่อนเกษตรกรที่เลี้ยงหมูเขาถึงขยายฟาร์มได้ในเวลาไม่นาน จนเมื่อตัวเองได้มาทำอาชีพนี้เองจึงรู้ว่า อาชีพนี้มีโอกาสที่จะเติบโตได้ ผมมองเห็นโอกาสนั้นก็เลยขยายฟาร์มเพิ่มเติม เพราะเราไม่มีความเสี่ยงในทุกทาง ทั้งเรื่องการหาวัตถุดิบพันธุ์หมู อาหารหมู ที่สำคัญคือไม่เสี่ยงกับการหาตลาดเพราะทั้งหมดนั้นบริษัทเป็นคนรับผิดชอบแทน พอปิดรุ่นการเลี้ยงทุก 5 เดือนผมสามารถคำนวณรายได้ที่จะได้รับ ผมมีเงินเก็บ ไม่เหมือนตอนทำนาที่ส่วนใหญ่คือทำได้แค่พอกิน ขายข้าวก็ไม่ได้ราคา แถมต้องมาเหนื่อยกายกับงานและเหนื่อยใจกับหนี้สิน” สระฐิน กล่าว

นอกจากการเลี้ยงหมูที่เดินหน้าไปเป็นอย่างดีจนเขาสามารถคืนเงินที่กู้จากสถาบันการเงิน สำหรับการลงทุนสร้างโรงเรือนหลังแรกได้เรียบร้อยแล้ว ส่วนโรงเรือนหลังที่สองยังเหลือยอดเงินกู้อีกไม่มากนัก ขณะเดียวกันเขายังมองเลยไปถึงเรื่องสภาพแวดล้อมของฟาร์มหมูที่ต้องไม่กระทบกับชุมชนรอบข้าง จึงได้จัดทำระบบบำบัดของเสียภายในฟาร์มด้วยระบบไบโอแก๊ส ทำให้สามารถเปลี่ยนขี้หมูที่คนอื่นมองว่าเป็นของเสีย ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้ากลับมาใช้ภายในฟาร์ม ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านพลังงานได้ถึงกว่า 50% จากที่เคยเสียค่าไฟฟ้ากว่า 50,000 บาทต่อรุ่นการเลี้ยง ปัจจุบันจ่ายค่าไฟเพียง 20,000 กว่าบาทเท่านั้น เมื่อต้นทุนต่ำลง ก็เท่ากับรายได้ที่มากขึ้นตามไปด้วย 

“สิ่งที่ผมยึดมั่นในการทำงานมาตลอด คือ การดูแลหมูให้เหมือนกับดูแลลูก ถ้าเลี้ยงเขาดีเขาก็ต้องโตดี ผลผลิตก็จะดี และถ้าคิดว่าทุกอย่างนั้นเป็นของเรา หากเรามีความเป็นเจ้าของกับผลผลิตทั้งหมด เราก็จะไม่ทิ้งขว้าง เห็นอะไรที่ช่วยให้ต้นทุนต่ำได้เราก็จะทำ อย่างอาหารที่ให้ก็ต้องให้อย่างดีพยายามอย่าให้หกหล่น ถ้าดูแลหมูอย่างใกล้ชิดก็ทำให้เห็นหมูเริ่มมีอาการซึมๆได้เร็วจะได้รีบแยกออกมาดูแลเป็นพิเศษ เท่านี้ก็จะทำให้ได้หมูที่แข็งแรงสมบูรณ์เหมือนกันทั้งหมด คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดก็คือผู้บริโภคที่จะได้รับของดีไปรับประทาน พวกนี้คือความภูมิใจของคนเลี้ยงหมู” สระฐิน กล่าวอย่างภูมิใจ

วันนี้หมู 1,350 ตัว สร้างรายได้ให้กับสระฐินและพี่ชายรุ่นละ 5 แสนบาท เปลี่ยนอดีตชาวนามาเป็นคนเลี้ยงหมูที่ได้จับเงินปีละล้าน ไม่ต้องตรากตรำกรำแดดฝน ไม่ต้องตะลอนไปทำงานก่อสร้างเพื่อเป็นรายได้เสริมในช่วงว่างจากการทำนาปีอย่างเมื่อก่อน และสิ่งที่สระฐินภูมิใจที่สุดคือสามารถส่งลูกทั้ง 4 คนเรียนจบได้ตามความสามารถของพวกเขา และก็กำลังจะส่งต่อความสำเร็จให้ลูกชายที่เข้ามาช่วยพ่อดูแลกิจการเลี้ยงหมูให้ยั่งยืนต่อไป

ที่มา : www.cp-enews.com

 

Share

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ (เรียนรู้เพิ่มเติม)