“หมูหลุมดอนแร่” ปฏิวัติวิธีเลี้ยงสุกรแบบบ้าน ๆ สู่การเลี้ยงเชิงพาณิชย์

“หมูหลุมดอนแร่” ปฏิวัติวิธีเลี้ยงสุกรแบบบ้าน ๆ สู่การเลี้ยงเชิงพาณิชย์

“หมูหลุมดอนแร่” ปฏิวัติวิธีเลี้ยงสุกรแบบบ้าน ๆ สู่การเลี้ยงเชิงพาณิชย์

รอบปี 2561 ที่ผ่านมาน่าจะเป็นปีที่สาหัสของผู้เลี้ยงสุกรที่ต้องเผชิญกับปัญหาราคาสุกรตกต่ำ ต้นทุนที่เพิ่มสูง ไหนจะการโยนหินถามทางของภาครัฐเกี่ยวกับการนำชิ้นส่วนสุกรจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาจำหน่าย ถึงกระนั้นมีการคาดการณ์ว่าราคาสุกรปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้น เพราะเมื่อปีที่ผ่านมาทำเกษตรกรเลิกเลี้ยงกันไปเยอะ ปริมาณหมูในตลาดจึงน่าจะลดลง เรื่องนี้ถ้าเป็นจริงคงเป็นตลกร้ายที่ขำไม่ออกสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยง ที่ต้องพยายามหาทางออก หาทางแก้กันต่อให้ปี “หมูป่า ” ที่โหรดังทำนายทายทัก เปลี่ยนเป็นปี “หมูทอง” ที่สุกใสให้จงได้

สุพจน์ สิงโตศรี

สุพจน์ สิงโตศรี ประธานกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงหมูหลุม ตำบลดอนแร่ นับเป็นคนแรก ๆ โดยเฉพาะในแถบภาคกลางที่หันมาเอาจริงเอาจังกับเลี้ยงสุกรด้วยวิถีธรรมชาติ หรือการเลี้ยงแบบ “หมูหลุม” โดยผสานองค์ความรู้ด้านสัตวบาลที่ร่ำเรียนเข้ากับประสบการณ์การทำงานในฟาร์มสุกรขนาดใหญ่มาใช้พัฒนาเทคนิคการเลี้ยงหมูหลุม ไม่ให้เป็นเพียงการเลี้ยงแบบบ้าน ๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งโปรตีนภายในครัวเรือนเท่านั้น แต่สามารถผลิตเนื้อสุกรคุณภาพจำหน่ายได้ราคาที่ดีกว่าสุกรในระบบฟาร์มเลี้ยงทั่วไป

ปี พ.ศ. 2549 เป็นปีแรกที่คุณสุพจน์เริ่มต้นทดลองหมูหลุม โดยปรับโรงเรือนเลี้ยงหมูของตนเองให้เป็นฟาร์มเลี้ยงหมูหลุม มีการจัดการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่นคอกเลี้ยงหมูหลุมตามตำราจะให้ขุดดินลึกลงไป 90 เซนติเมตร แต่ด้วยความที่คอกเดิมเป็นพื้นปูนจึงใช้วิธีรองพื้นคอกด้วยแกลบสูงจากพื้นคอกขึ้นมา 60 เซนติเมตร ซึ่งทดลองเลี้ยงแล้วได้ผลดีเช่นกัน รวมถึงหันมาใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ช่วยในการควบคุมกลิ่นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และเพื่อตอบโจทย์ความสงสัยของตนเองที่ว่า หากการเลี้ยงหมูด้วยวิธีนี้ดีจริงจะต้องเลี้ยงแบบปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะหรือเลี้ยงเป็นหมูปลอดเข็มให้ได้

พื้นคอก หมูหลุม

ในส่วนของพื้นคอกที่เป็นไฮไลท์สำคัญของการเลี้ยงหมูหลุม กรณีที่ทำคอกขึ้นใหม่อาจขุดดินลึกลงไป 40 เซนติเมตร ก่อนเทวัสดุรองพื้นลงไปหรือจะใช้เป็นพื้นปูนก็ได้เช่นกัน แต่จะต้องรองพื้นสูง 60 เซนติเมตร สำหรับวัสดุรองพื้นหลักจะใช้เป็นแกลบ เพราะมีคุณสมบัติช่วยดูดซับความชื้นได้ดี และในแถบจังหวัดราชบุรียังหาได้ง่าย ซึ่งในบางพื้นที่อาจใช้ขี้เลื่อยหรือขุยมะพร้าวแทนได้เช่นกัน

แกลบ 100 กิโลกรัมใช้เลี้ยงหมูได้ 1 ตัว ใน 1 คอกเราจะใช้แกลบ 700-1,000 กิโลกรัม เมื่อใช้เลี้ยงไป 5 เดือน ซึ่งลูกหมูโตพอให้จับขายพอดีจะได้ปุ๋ย 5,000 กิโลกรัม ที่นำไปขายเปลี่ยนเงินต้นทุนค่าแกลบคอกละ 2,000 บาทให้กลับคืนมาได้ถึง 10,000 บาท

ความลับที่ทำให้ฟาร์มเลี้ยงหมูหลุมที่มีหมูกว่า 300 ตัวแห่งนี้ไร้กลิ่น คุณสุพจน์บอกว่าอยู่ที่การใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ฉีดพ่นที่คอก ตัวหมู รวมถึงผสมในน้ำดื่มให้กิน โดยน้ำหมักจุลินทรีย์ที่ใช้มีอยู่ 2 ชนิด คือน้ำหมักผลไม้และน้ำหมักชีวภาพจากจุลินทรีย์ท้องถิ่น

การเลี้ยงหมูหลุมใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ไม่ต่างกับการเลี้ยงหมูในระบบฟาร์ม แต่สิ่งที่ต่างคือคุณภาพและความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับ ความโดดเด่นอีกอย่างคือเรื่องกลิ่นคาวที่น้อยมาก นอกจากนี้เมื่อเจาะรายละเอียดลงไปในแต่ละส่วนจะพบว่า ชิ้นส่วนคอหมูจากการเลี้ยงระบบนี้รับประทานได้อย่างสบายใจ เพราะเลี้ยงแบบเซย์โนเข็มฉีดยา ไม่ต้องเสี่ยงกับยาหมูที่อาจตกค้าง

การเลี้ยงหมูหลุมเชิงพาณิชย์ในอนาคตจึงน่าจะมีมากขึ้น ซึ่งเร็ว ๆ นี้ก็จะมีมาตรฐานรับรองที่ช่วยให้ทั้งผู้เลี้ยงมั่นใจในแนวทางดังกล่าว และผู้บริโภคก็จะซื้อหาเนื้อหมูหลุมที่มีมาตรฐานรับรองไปบริโภคได้อย่างสบายใจ

ข้อมูลโดย : https://www.facebook.com/agriculturemag/posts/2130055007032081?__tn__=-R

Share

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ (เรียนรู้เพิ่มเติม)