คุณจำนงค์ จังอินทร์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ ให้ข้อมูลว่า จังหวัดศรีสะเกษมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคมากกว่า 45,000 ราย มีจำนวนโคทั้งสิ้น ประมาณ 190,000 ตัว จึงถือเป็นแหล่งที่เลี้ยงโคมากเป็น อันดับ 2 ของประเทศ โดยส่วนใหญ่จะเลี้ยงแบบผลิตลูกที่ปล่อยตามหัวไร่ปลายนา และอีกบางส่วนเลี้ยงแบบยืนโรงหาอาหารให้กินตลอดจนเสริมด้วยอาหารข้น เพื่อสร้างเป็นโคขุนส่งขายเนื้อ
“โคที่เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นลูกผสมชาร์โรเล่ส์กับบราห์มัน โดยปรับให้มีเลือดของชาร์โรเล่ส์สูงกว่าเป็นโครงสร้างของโคขุนที่ให้เนื้อมาก หรือเกษตรกรบางรายก็ชอบที่จะให้มีสายเลือดของบราห์มันมากกว่า ซึ่งแล้วแต่ว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ด้านใด ซึ่งโดยทั่วไปเกษตรกรที่เน้นเลี้ยงขุนส่งขายเนื้อก็จะให้มีสายเลือดของชาร์โรเล่ส์มากกว่า แต่ต้องไม่เกิน 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 25 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นบราห์มันหรือพื้นเมืองก็ได้ จึงนับว่าเป็นโอกาสทำรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อได้เป็นอย่างดี” คุณจำนงค์ กล่าว
คุณทองเตียง บริบาล อยู่บ้านเลขที่ 33 หมู่ที่ 5 ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ โดยเลี้ยงแบบครบวงจร คือ ทำการตลาดทั้งขายลูกพันธุ์และเลี้ยงเป็นโคขุนส่งขาย เรียกง่ายๆ ว่า เป็นงานที่สร้างเงินเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี
จากเกษตรกรปลูกพืช ผันชีวิตทำปศุสัตว์
คุณทองเตียง เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีมีอาชีพทางด้านการทำนา ตลอดจนปลูกหอมเพื่อเป็นอาชีพของครอบครัว แต่เนื่องจากสินค้าเกษตรจำพวกพืชไม่สามารถกำหนดในเรื่องของราคาได้ จึงได้มีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนมองหาสิ่งใหม่ๆ สร้างรายได้ให้มีเพิ่มมากขึ้น
“ช่วงนั้นประมาณปี 2520 ช่วงนั้นเราก็ปลูกพืชอยู่ และก็มีควายอยู่ด้วย 1 ตัว เราก็เลี้ยงดูแลเรื่อยๆ พอโตเราก็ขายเอาเงินที่ได้มาต่อยอดซื้อมาเลี้ยงใหม่อีก คราวนี้ประมาณปี 2530 เราก็เริ่มเปลี่ยนจากควายมาเลี้ยงโคแทน ก็จะเป็นพวกพันธุ์บราห์มัน พันธุ์พื้นเมือง ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จดี ก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกพืชมาเลี้ยงโคมากขึ้น โดยปัจจุบันนี้จะเป็นลูกผสมที่มีสายพันธุ์ชาร์โรเล่ส์มากขึ้นเพื่อให้เกิดความเจ้าเนื้อ ส่งขายให้กับพ่อค้าเขียงเนื้อ” คุณทองเตียง เล่าถึงเหตุการณ์ในสมัยก่อน
ซึ่งช่วงที่ทำการเลี้ยงใหม่ๆ คุณทองเตียง บอกว่า จะเน้นเลี้ยงแบบผลิตลูกขายและเก็บแม่พันธุ์ไว้ เมื่อเล็งเห็นแล้วว่าการเลี้ยงประสบผลสำเร็จไม่มีปัญหา สามารถสร้างเงินได้ จึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกหอมมาเปลี่ยนปลูกหญ้าให้โคกิน เพื่อให้มีอาหารสำหรับเลี้ยงโคอย่างเพียงพอ
ผลิตทั้งลูกโค และเลี้ยงเป็นโคขุน
ในขั้นตอนของการเลี้ยงโคตามแบบของคุณทองเตียงนั้น จะใช้แม่พันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 2-3 ปี ขึ้นไปมาผสมพันธุ์ จากนั้นจะใช้พ่อพันธุ์ที่มีอยู่ภายในฟาร์มผสมกับแม่พันธุ์ที่มีอายุพร้อมแล้ว ซึ่งพ่อพันธุ์ที่ใช้ผสมก็มีทั้งชาร์โรเล่ส์และบราห์มันที่มีเลือดร้อยและลูกผสม เมื่อผสมจนติดรอแม่พันธุ์ตั้งท้องอีก 9 เดือน
“เนื่องจากที่ฟาร์มเรามีพ่อพันธุ์ ก็จะคัดพันธุ์และใช้ผสมเองตามธรรมชาติ ไม่ได้เน้นผสมเทียม ก็ถือว่าผสมติดดีไม่มีปัญหา พอผสมจนติดแล้วรอให้แม่พันธุ์ตั้งท้องประมาณ 9 เดือน พอได้ลูกโคออกมาก็จะให้อยู่กับแม่กินนมแม่ไปจนกว่าจะหย่านม ส่วนตัวแม่พันธุ์เราก็จะให้กินทั้งอาหารข้น และอาหารหยาบจำพวกหญ้าเนเปียร์ที่เราปลูกเอง เมื่อลูกได้อายุ 5 เดือน เราก็เอามาขุนต่อไป ส่วนแม่พันธุ์ก็เตรียมมาผสมพันธุ์ใหม่” คุณทองเตียง กล่าว
จากนั้นนำลูกโคที่เพิ่งหย่านมมาเลี้ยงต่อให้มีอายุประมาณ 1 ปีขึ้นไป ให้กินอาหารข้นตลาดทั้งวันและกินหญ้าเนเปียร์ วันละ 1 มื้อ เมื่อลูกโคเจริญเติบโตสมบูรณ์ดี ก็จะมีคนมาติดต่อขอซื้อถึงฟาร์ม ถ้าเป็นตัวเมียก็จะซื้อไปเป็นแม่พันธุ์ถ้าเป็นตัวผู้ก็ซื้อไปเป็นพ่อพันธุ์หรือนำไปเลี้ยงเพื่อขุนให้ใหญ่ขายเนื้อก็ได้
ส่วนตัวผู้บางตัวที่ไม่ได้ขาย คุณทองเตียง บอกว่า จะนำมาขุนให้มีขนาดที่ใหญ่ น้ำหนักประมาณ 400-500 ต่อกิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักของโคสามารถขุนให้มีน้ำหนักมากกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าที่มารับซื้อ
“นอกจากเราจะใช้โคในฟาร์มเราขุนส่งขายแล้ว เราก็หาซื้อจากที่อื่นมาด้วย อายุก็มีหลากหลายแตกต่างกันไป พอมาอยู่ที่ฟาร์มก็หาอาหารให้กิน อย่างซื้อที่อื่นมาผอม เราก็มาขุนให้ได้น้ำหนัก อ้วนมีเนื้อก็เตรียมส่งขายให้เขียงที่ติดต่อซื้อได้เลย ก็สามารถทำกำไรจากตรงนี้ได้อีกทาง” คุณทองเตียง กล่าว
ในเรื่องการดูแลป้องกันโรค คุณทองเตียง บอกว่า จะติดต่อให้ทางสำนักงานปศุสัตว์มาเป็นผู้ดูแล พร้อมทั้งทำวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยทุก 6 เดือน และส่วนโคที่รับซื้อมาจากที่ฟาร์มอื่น ก็จะฉีควัคซีนป้องกันก่อนที่จะนำเข้ามาเลี้ยงภายในฟาร์ม
มีพ่อค้ามารับซื้อโคถึงหน้าฟาร์ม
คุณทองเตียง เล่าต่อว่า ในสมัยที่เริ่มเลี้ยงใหม่ๆ ไม่กังวลในเรื่องของการตลาดมากนัก เพราะในพื้นที่ย่านนี้มีตลาดรับซื้อโค-กระบืออยู่ในย่านนี้ จึงสามารถนำโคที่เลี้ยงไปส่งขายให้กับพ่อค้าได้ เมื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็จะมีผู้มาติดต่อขอซื้อถึงที่หน้าฟาร์มโดยตรงในเวลานี้
ซึ่งราคาของโคที่ขายมีราคาที่แตกต่างกันไป โคอายุ 1 ปีครึ่ง ขายอยู่ที่ตัวละ 30,000-40,000 บาท ส่วนโคที่ขุนเพื่อส่งขายให้กับตลาดเนื้อมีอายุประมาณ 3 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 500-700 กิโลกรัม ราคาขายอยู่ที่ตัวละ 50,000-80,000 บาท โดยขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไป
“การเลี้ยงโคถือว่าทำรายได้ที่หลากหลาย ผลิตขายลูกพันธุ์ก็ได้ ส่วนตัวที่เขาไม่ซื้อเราก็เอามาขุนให้อ้วน ส่งขายให้ตลาดเนื้อเอง ส่วนที่สร้างรายได้อีกก็ขี้วัว สามารถขายได้ถึงกระสอบละ 35-40 บาท โดยปีหนึ่งก็ขายได้ประมาณแสนกว่าบาท บางส่วนที่ไม่ได้ขายนำมาใส่เป็นปุ๋ยให้หญ้าเนเปียร์ที่เราปลูกเอง” คุณทองเตียง บอกถึงข้อดีของการเลี้ยงโค