จิ้งหรีด อาชีพเสริมทำเงินง่าย

เจาะตลาดในพื้นที่

การเลี้ยง 1 รอบ คุณพรพรรณได้จิ้งหรีด 8-10 กิโลกรัม/บ่อ การบำรุงพ่อแม่พันธุ์ก่อนจับจะงดอาหารชนิดอื่นทั้งหมด ให้แต่ฟักทองกับน้ำ เรียกว่าเป็นการล้างท้องไม่ให้มีกลิ่นอาหารสำเร็จรูปเหลืออยู่ นอกจากฟักทองยังใช้ใบเตยและข้าวโพดได้ด้วยเช่นกัน

“เมื่อบำรุงจนไข่จิ้งหรีดเต็มท้องอีกครั้งจะเก็บขายโดยเตรียมกะละมังขนาดใหญ่มาใส่ ใช้วิธีเอาแผงไข่ออกจากบ่อมาเคาะให้จิ้งหรีดตกลงไปในกะละมัง และใช้ที่ตักผงกวาดเอาตัวที่อยู่ในบ่อใส่ตามลงไปด้วย จากนั้นเอาถังตักน้ำใส่กะละมังที่มีจิ้งหรีดอยู่ สักประเดี๋ยวมันก็จะจมน้ำตายหมด เราก็นำมาต้มประมาณครึ่งชั่วโมง หลังต้มเสร็จจะนำจิ้งหรีดไปตากจนแห้ง ก่อนใส่ถุง ๆ ละครึ่งกิโลกรัมแล้วนำไปแช่แข็งรอจำหน่าย ในราคาถุงละ 60 บาท หรือกิโลกรัมละ 120 บาท”

กลุ่มลูกค้าหลักคือชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงที่ชื่นชอบการรับประทานแมลงทอด ช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ก่อนเข้าพรรษาและหลังออกพรรษาจะยิ่งขายดีมาก นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการไข่จิ้งหรีดในราคาขันละ 50 บาท

คุณพรพรรณ เริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดมาตั้งแต่ช่วงสงกรานต์เมื่อปี พ.ศ. 2559 ทั้งหมดเป็นจิ้งหรีดทองแดง-ทองดำ เพราะชาวบ้านนิยมบริโภค โดยมีรังเลี้ยงทั้งหมด 12 บ่อ ทั้งที่ซื้อต่อมาและทำขึ้นใหม่ ตัวบ่อหรือรังทำจากยิปซัมแผ่นเรียบ ขนาดบ่อตามมาตรฐาน กว้างxยาวxสูง 1.2×2.4×1.2 เมตร บ่อเลี้ยงที่ทำขึ้นใหม่จะใช้โครงไม้แทนโครงเหล็กต่างจากบ่อที่ซื้อมา เนื่องจากมีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายสะดวกและจัดการง่ายกว่า ที่ขาบ่อใส่ถาดน้ำป้องกันมดแมลงไต่ขึ้นมา และปิดด้านบนบ่อด้วยสแลน 1 ม้วน ต้นทุนราคา 400 บาท ใช้ปิดปากบ่อได้ถึง 10 บ่อ ส่วนตัวบ่อเลี้ยงที่ทำเพิ่มขึ้นรวมแผงไข่มีต้นทุนทั้งหมดเพียง 1,000 บาทเท่านั้น ใน 1 บ่อเลี้ยงจะวางแผงไข่ได้เต็มที่ 300 แผง แต่คุณพรพรรณจะใส่แค่ 150 แผง/บ่อ เพื่อให้ดึงออกมาทำความสะอาดได้ง่าย

การขยายพันธุ์

จิ้งหรีดที่นำลงเลี้ยงใช้วิธีขยายพันธุ์จากไข่พ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงไว้ก่อนจับจำหน่าย โดยจิ้งหรีดทองแดง-ทองดำตัวโต ใช้เวลาเลี้ยงราว 40 วัน จะถึงวัยจับคู่ผสมพันธุ์ ระยะนี้ผู้เลี้ยงจะต้องนำขันใส่ขี้เถ้าและน้ำพอหมาดไปวางไว้ในบ่อ จิ้งหรีดที่ผสมพันธุ์แล้วจะมาวางไข่ตอนเย็นในตอนเช้าจะเก็บออกทันทีไปใส่ในบ่อเลี้ยงที่เตรียมไว้ เพื่อให้ได้จิ้งหรีดที่ฟักออกมามีขนาดเท่า ๆ กัน ซึ่งนับเป็น 1 รุ่น แต่หากต้องการเก็บไว้ทำพ่อแม่พันธุ์จำนวนมากก็อาจตั้งทิ้งไว้ 2-3 วัน หลังเก็บไข่ออกมาแล้ว จะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ภายในบ่อต่อไปอีก 7 วัน เพื่อให้ตัวเมียมีไข่เต็มท้องจึงจะจับจำหน่ายพร้อมกับตัวผู้ยกบ่อ

การกกไข่ด้วยอุปกรณ์อย่างง่าย

ไข่ที่เก็บมาได้จะนำมาบ่มในกล่องโฟมก่อน โดยนำขันหรือถาดใส่ไข่เรียงลงไป จากนั้นปิดด้วยผ้าพลาสติกชั้นหนึ่งก่อนปิดฝากล่องและนำผ้าห่มเก่ามาคลุมทับเพิ่มความร้อนให้ไข่ฟักออกมาง่ายขึ้น วิธีนี้ยังใช้ในช่วงฤดูหนาวที่ไข่จิ้งหรีดฟักได้ยากอย่างดี

“เราเน้นอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายและถ้าเป็นช่วงที่เก็บไข่จากหลายบ่อพร้อมกัน จะอบไข่ในบ่อที่ไม่ได้ใช้ไปเลย โดยเอาขันไข่วางซ้อนกันและเอาพลาสติกคลุม ใช้ผ้ายางคลุมทับอีกชั้น ส่วนด้านบนสุดใช้ผ้าห่มคลุมทับ ประมาณวันที่ 6 เราจะนำถาดใส่ไข่ไปวางไว้ตามบ่อที่เตรียมไว้ แต่ละบ่อยังคลุมด้วยผ้าห่มเก่า พอถึงวันที่ 7 จิ้งหรีดจะทยอยฟักเป็นตัวออกมาให้เราคลุมผ้าห่มต่อไปอีก 1-2 วัน จนไข่ฟักหมด จากนั้นเริ่มให้อาหาร เลือกที่มีน้ำในตัวเช่นหยวกกล้วยหั่นเป็นชิ้นพร้อมด้วยอาหารสำเร็จรูป ส่วนถาดไข่ก็จะใส่น้ำใช้แทนถาดน้ำให้จิ้งหรีดดูดกิน ซึ่งจิ้งหรีดในช่วงวัยนี้ขาดอาหาได้ แต่ขาดน้ำไม่ได้เลย”

อนุบาลกระทั่งขุนขาย

เมื่อลูกจิ้งหรีดอายุได้ประมาณ 10 วัน จะเริ่มให้อาหารจำพวกผักใบที่หาได้ง่ายรอบบ้าน เช่น ผักบุ้ง ใบกล้วย หรือใบมะละกอ ส่วนอาหารสำเร็จรูปช่วง 30 วันแรกจะให้อาหารไก่เล็กซึ่งมีราคาถูกว่าอาหารจิ้งหรีด กระสอบละเกือบ 100 บาท โดยจะใส่ถาดอาหารทิ้งไว้และทยอยเติมเมื่อหมด ส่วนหยวกกล้วยที่ให้ไว้ตลอดจะเปลี่ยนทุก 3 วัน จนเมื่อจิ้งหรีดอายุได้ 30 วันจะเริ่มออกปีกก่อนโตเต็มวัย ในระยะนี้จะเปลี่ยนมาเป็นอาหารไก่ใหญ่เพื่อเร่งไข่ และนำถาดขี้เถ้าสำหรับให้น้ำออก ป้องกันการวางไข่ขณะที่ยังไม่โตเต็มที่ เปลี่ยนมาเป็นถาดน้ำที่ใส่ก้อนหินแทนป้องกันจิ้งหรีดตกลงไปหรือจมน้ำตาย หลังจากนั้นอีกประมาณ 10 วันจิ้งหรีดจะโตเต็มวัย พร้อมให้ไข่จิ้งหรีดคุณภาพ ผู้เลี้ยงก็ต้องเตรียมถาดให้จิ้งหรีดวางไข่อีกครั้ง

คำแนะนำถึงมือใหม่

แม้การเลี้ยงจิ้งหรีดใช้เงินลงทุนในการเลี้ยงหลักพันบาท อีกทั้งให้ผลผลิตรวดเร็วคืนทุนได้ไว แต่หลายครั้งมือใหม่ก็ประสบปัญหาจนต้องถอดใจเลิกเลี้ยงไปหลายต่อหลายราย ซึ่งคุณพรพรรณบอกว่า ในช่วงที่หัดเลี้ยงจิ้งหรีดก็ตายเยอะเช่นกัน ทั้งจากศัตรูธรรมชาติ เช่น จิ้งจก จิ้งเหลน แมงมุม อึ่งอ่าง เพราะฉะนั้นต้องปิดปากบ่อให้ดี หมั่นตรวจเช็คตาข่ายที่ปิดปากบ่อว่าขาดหรือมีช่องพอให้ศัตรูของจิ้งหรีดหลุดรอดลงไปได้หรือไม่

“อีกเรื่องคืออาหาร เท่าที่สังเกตดูในครั้งแรกที่เริ่มเลี้ยงให้อาหารสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว ปรากฏว่าจิ้งหรีดนอนหงายท้องตายเพียบ เลยคิดว่าถ้าไม่ใช่อาหารในบ่อก็น่าจะมีเชื้อโรค จึงปรับเปลี่ยนมาให้อาหารจำพวกผักธรรมชาติและทำความสะอาดบ่อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ อย่างแผงไข่ก็จะนำมาตากแดดก่อนใช้ และใช้เลี้ยงไม่เกิน 3 รอบก็จะชั่งกิโลขายเอาต้นทุนคืนมาบ้าง ไม่ใช้ซ้ำเพราะกลัวมีเชื้อโรคตกค้าง หลัก ๆ ที่เคยประสบปัญหาก็มีเพียงเท่านี้ เพราะจริง ๆ จิ้งหรีดนั้นเลี้ยงค่อนข้างง่าย”

สนใจขอความรู้จากสารวัตรกำนันคนเก่ง ได้ยังบ้านเลขที่ 72 หมู่ 11 หมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง บ้านเนินกร้าว ตำบลวัดไทร อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ (โทร. 08-5603-5911)

ข้อมูลโดย : https://www.facebook.com/agriculturemag/posts/2324241967613383?__tn__=-R

 

Share

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ (เรียนรู้เพิ่มเติม)