คีตะ มิลค์ แบรนด์นมพาสเจอไรซ์ ของเกษตรกรรุ่นใหม่

จากการที่กลุ่มเกษตรกรโคนมในพื้นที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดนครปฐม ประสบปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดในปี พ.ศ. 2512 และได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหา จากพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้น นำมาซึ่งการก่อตั้งโรงงานนมผงและศูนย์รวมนมหนองโพ เพื่อรับซื้อน้ำนมดิบจากสมาชิก และเติบโต ก้าวหน้า จนกลายเป็นสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์หนองโพ ที่มาพร้อมสโลแกน “นมสดหนองโพ นมโคแท้แท้” ในปัจจุบัน

ระยะเวลาเกือบ 50 ปี นับแต่การก่อตั้งสหกรณ์ เกิดการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ครอบครัวเม่งผ่อง เป็นหนึ่งในครอบครัวสมาชิกเกษตรกรโคนมที่รับมรดกตกทอดทางอาชีพมาจากรุ่นปู่ ย่า จนปัจจุบันสืบทอดมาถึงรุ่นหลาน และดำเนินกิจการฟาร์มโคนมเข้าปีที่ 7 แล้ว

คุณปฐมพร เม่งผ่อง หรือ แมน โคบาลหนุ่มวัย 30 ปี เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงโคนมว่า คุณปู่กับคุณย่าเป็นเกษตรกรฟาร์มโคนม สมาชิกรุ่นแรกๆ ของสหกรณ์ แต่รุ่นพ่อแม่ไม่ได้สืบสานต่อ หันไปรับราชการ พอมาถึงรุ่นเขา ซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัยมัธยมศึกษาตอนปลาย ปู่กับย่าได้ตัดสินใจเลิกทำฟาร์ม เพราะด้วยอายุที่มากขึ้นอาจทำไม่ไหว ด้วยความที่เขาได้ใกล้ชิด เรียนรู้ และช่วยปู่ย่าทำฟาร์มมาตั้งแต่เด็ก คุณแมนได้เกิดความมุ่งมั่นที่จะสานต่ออีกครั้ง

“ผมบอกปู่กับย่าว่าขายโคนมไปได้ แต่คอก อุปกรณ์ เครื่องรีดนม อะไรต่างๆ ให้เอาไว้ ผมจะมาทำต่อเอง” คุณแมนในวัย 18 ปี เมื่อจบการศึกษามัธยมตอนปลายจึงตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเตรียมพร้อมเป็นเกษตรกรฟาร์มโคนมรุ่นต่อไป

ราวปี พ.ศ. 2556 คุณแมนจบการศึกษา แต่จับพลัดจับผลูได้เข้าทำงานในโรงงานอาหารสัตว์ 1 ปีหลังจากนั้น สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ได้เรียกคุณแมนเข้าทำงานในตำแหน่งนักวิชาการสัตวบาล ภารกิจหลักคือ ออกผสมพันธุ์เทียมโค แนะนำ ส่งเสริมเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพโค พัฒนาคุณภาพน้ำนม และมาตรฐานโรงเรือนให้แก่สมาชิก เมื่อได้กลับมาทำงานใกล้บ้าน ได้อยู่กับครอบครัว เขารีบสานฝันทำฟาร์มโคนมตามที่เคยบอกปู่กับย่าไว้ โดยซื้อโคพันธุ์โฮลสไตน์ ฟรีเชียน (Holstein-Friesian) มา 1 ตัว ผสมเทียมเอง ด้วยน้ำเชื้อจากสหกรณ์ เมื่อโคท้องก็รีดน้ำนมนำไปขายที่สหกรณ์ เก็บเล็กผสมน้อย ค่อยๆ ซื้อโคเข้ามาเพิ่มเติมในฟาร์ม

ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2559 คุณแมนแต่งงานกับ คุณใบเอิ้น มลฤดี เม่งผ่อง เธอเรียนจบมาทางด้านสัตวศาสตร์เช่นเดียวกัน คุณใบเอิ้นได้เข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ทั้งสองช่วยกันทำฟาร์มโคนม ส่งน้ำนมดิบให้สหกรณ์อย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีความคิดที่จะแปรรูปน้ำนมเอง

คุณแมนและคุณใบเอิ้น จึงได้เริ่มแบ่งน้ำนมจำนวนหนึ่ง ในทุกวันอังคารประมาณครั้งละ 30 กิโลกรัม มาต้มทำเป็นนมพาสเจอไรซ์ ซึ่งมีกรรมวิธีไม่ยุ่งยาก สามารถทำได้ในครัวหลังบ้าน เนื่องจากการผลิตใช้ความร้อนต่ำ ราว 63-65 องศาเซลเซียส ทำให้สารอาหารต่างๆ ในน้ำนมไม่ถูกทำลาย คงคุณค่าและรสชาติของนมสดไว้ ชูจุดขาย นมสด 100 เปอร์เซ็นต์ มี 11 รสชาติ คือ รสจืด รสหวาน รสน้ำผึ้ง รสชาไทย รสโกโก้ รสกาแฟ รสชาเขียว รสสตรอเบอรี่ รสแคนตาลูป รสเผือก และรสนมเย็น วางขายที่ตลาดนัดมหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ ในทุกวันพุธ ภายใต้แบรนด์ “คีตะ มิลค์” ซึ่งเป็นชื่อลูกชายคนแรกของทั้งสอง

ซึ่งรายได้เปรียบเทียบกันระหว่างจำหน่ายเป็นน้ำนมดิบกับการนำมาแปรรูปเป็นนมพาสเจอไรซ์แล้วจำหน่ายเอง คุณแมน บอกว่า การแปรรูปนมสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้เป็นที่น่าพอใจ โดยแจกแจงรายละเอียดให้ฟังว่า

“ตอนนั้นคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้นมของเราขายได้ราคาสูงขึ้น ก็เลยคิดว่าทำนมขายเองดีกว่า ในปัจจุบันรีดน้ำนมวันละ 2 ครั้ง คือ ช่วง 04.00 น. และ 16.00 น. ได้น้ำนมดิบวันละประมาณ 180-190 กิโลกรัม ต้นทุนน้ำนมดิบของฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 11 บาท ซึ่งสหกรณ์มีราคากลางรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 18.50 บาท และจะบวกเพิ่มให้ตามคุณภาพน้ำนมและมาตรฐานต่างๆ ที่ฟาร์มทำได้ ถ้าสามารถผ่านมาตรฐานได้ทุกข้อ ก็จะสามารถขายน้ำนมดิบได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 21 บาท โดยประมาณ สามารถสร้างรายได้ราว 50,000-60,000 บาท ต่อเดือน” คุณแมน เล่าถึงการจัดการน้ำนมดิบ

ส่วนน้ำนมดิบที่นำมาพาสเจอไรซ์ ทำแบรนด์คีตะ มิลค์ คุณแมน บอกว่า นำมาบรรจุในขวดแก้ว 250 มิลลิลิตร ขายขวดละ 35 บาท ผลิตครั้งละ 100 กว่าขวด ซึ่งเดือนหนึ่งผลิตประมาณ 4 ครั้ง และยังรับทำตามออเดอร์บ้างเล็กน้อย

ซึ่งการแปรรูปน้ำนมดิบเองสามารถจำหน่ายได้ถึงราคากิโลกรัมละประมาณ 100 กว่าบาทหลังแปรรูป สร้างรายได้ราวเดือนละ 15,000-16,000 บาท นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า

เมื่อถามคุณแมนและคุณใบเอิ้นถึงแผนการพัฒนาฟาร์มของครอบครัว ทั้งสองบอกว่า ยังไม่รีบร้อนที่จะขยายฟาร์ม อยากค่อยๆ เติบโต และถึงแม้การแปรรูปนมพาสเจอไรซ์จะให้รายได้ดีกว่า แต่การเป็นสมาชิกสหกรณ์ทำให้มีตลาดรองรับน้ำนมดิบที่แน่นอน ทั้งยังได้ซื้อปัจจัยการผลิตในราคายุติธรรม สามารถขอสินเชื่อเพื่อปรับปรุงพัฒนาฟาร์ม และได้รับความช่วยเหลือ แนะนำ ในเรื่องต่างๆ รวมถึงสหกรณ์ยังส่งเสริมให้สมาชิกได้เข้าอบรม เรียนรู้เพิ่มเติมในหลักสูตรเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม การจัดการฟาร์ม การผลิตน้ำนมให้ได้มาตรฐาน และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ในอนาคตอาจมีการขยายกำลังผลิต ถ้าสามารถหาตลาดรองรับได้ และมีเวลามากพอ รวมถึงการผลิตโยเกิร์ต ที่ได้หัวเชื้อมาจากการจัดการอบรมของสหกรณ์ด้วย

สิ่งสำคัญที่ทั้งสองอยากจะให้โคนมเป็นอาชีพที่ยั่งยืน จึงได้ปลูกฝังให้น้องคีตะ ลูกชายคนแรก เจ้าของแบรนด์นมพาสเจอไรซ์ วัย 2 ขวบ ได้เรียนรู้ สัมผัส และซึมซับการทำฟาร์มโคนมไปด้วย

“ผมว่าการเลี้ยงโคนมก็เป็นอาชีพหนึ่งที่มั่นคง และมันไปต่อได้ เพราะเป็นอาชีพที่พ่อให้” คุณแมนได้ทิ้งท้าย ย้ำความคิดเดิมเมื่อครั้งตั้งใจจะสานต่ออาชีพการทำฟาร์มโคนมจากปู่ย่า และมีความหวังจะส่งต่อมรดกอาชีพพระราชทานสู่รุ่นลูกต่อไป

ข้อมูลโดย : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_121974

Share

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ (เรียนรู้เพิ่มเติม)