ศรีภักดีฟาร์ม ฟาร์มสร้างชีวิต

“ผมนั้นเคยติดคุกอยู่ที่บางขวาง 13 ปี ข้อหาปล้นฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ช่วงที่อยู่ในเรือนจำได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตร โดยเฉพาะการทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นความตั้งใจว่า หากได้พ้นโทษออกมาจะมาเริ่มต้นชีวิตใหม่กับการทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง”

นายสุพันธ์ ศรีภักดี อยู่บ้านเลขที่ 13 หมู่ที่ 7 ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ โทร. (087) 240-6827 บอกกล่าวถึงอดีตก่อนก้าวมาเป็นเกษตรกรในระดับ Smart Farmer ด้านปศุสัตว์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเบญจลักษ์ และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ

จากที่ต้องถูกจองจำอยู่เป็นเวลา 13 ปี เมื่อพ้นโทษออกมาในปี 2535 จึงเป็นปีแห่งเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างเพื่อการผลิตตามโครงการของกรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้การสนับสนุนของอำเภองานเกษตรอำเภอเบญจลักษ์ และเริ่มต้นทำฟาร์มภายใต้ชื่อ “ศรีภักดีฟาร์ม” บนพื้นที่ 24 ไร่ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2535

ด้วยความมุมานะพยายามในการประกอบอาชีพจึงทำให้ก้าวสู่ฟาร์มชั้นแนวหน้า มีกิจกรรมประกอบด้วย การเลี้ยงหมู 1,822 ตัว แยกเป็น แม่พันธุ์ 210 ตัว พ่อพันธุ์ 12 ตัว หมูขุน 1,600 ตัว วัวเนื้อ 444 ตัว แยกเป็น แม่พันธุ์ 280 ตัว พ่อพันธุ์ชาร์โรเล่ส์ 3 ตัว พ่อพันธุ์บราห์มัน 1 ตัว วัวขุน จะเลี้ยงชุดละ 40 ตัว โครุ่นอื่นๆ 120 ตัว และเลี้ยงปลานิล 6 บ่อ นอกจากนี้ ยังมีรายได้เสริมมะพร้าวน้ำหอมที่ปลูกไว้รอบๆ ฟาร์ม และการทำปุ๋ยหมักจากขี้หมู ขี้วัวในฟาร์ม

“การเลี้ยงวัวของผมจะเน้นเป็นวัวเนื้อ เพราะขายง่าย ต้นทุนต่ำ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ โดยนำพันธุ์ชาร์โรเล่ส์เข้ามาผสมกับแม่พันธุ์พื้นเมือง แม่พันธุ์บราห์มันที่มีอยู่ในฟาร์ม ลูกที่ออกถ้าเป็นตัวเมียจะเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ ส่วนลูกตัวผู้จะนำไปขุนจำหน่าย ในฟาร์มของผมจะมีลูกวัวคลอดออกมาทุกวัน”

ในส่วนของอาหารที่ใช้เลี้ยง เจ้าของฟาร์มได้ยกตัวอย่างถึงวัวเนื้อที่เลี้ยงว่า จะใช้ฟางข้าวหมักเป็นหลัก และเสริมด้วยกากมันหมักยีสต์ ส่วนอาหารข้นจะเน้นการผสมอาหารขึ้นใช้เอง โดยซื้อวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่เป็นหลัก โดยสูตรอาหารที่ใช้นั้นลูกชายเป็นคิดค้นสูตรขึ้นมา” พี่สุพันธ์ กล่าว

ในส่วนของการเลี้ยงวัวเนื้อนั้น พื้นที่คอกเลี้ยงของพี่สุพันธ์จะมีรูปแบบที่แตกต่างจากที่อื่น โดยจะเน้นการขุดบ่อเลี้ยงปลาไว้กลางคอกโคเนื้อ ด้วยต้องการเลี้ยงปลานิล

“ผมใช้ปลานิลแปลงเพศเก็บขี้วัว พอฝนตกขี้วัวจะไหลลงบ่อ แล้วทำให้เกิดแพลงตอนขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งแพลงตอนนี้จะกลายเป็นอาหารของปลานิลที่เลี้ยง และปลานิลที่ผมปล่อยเลี้ยงนี้จะปล่อยครั้งแรกทีเดียว 10,000 ตัว หลังจากนั้นปล่อยตามธรรมชาติออกลูกหลานในบ่อเอง ผมจะจับเฉพาะตัวใหญ่ตรงกับที่ตลาดต้องการ ซึ่งเป็นการเลี้ยงที่เราไม่ต้องมีต้นทุนมากนัก” พี่สุพันธ์ กล่าว จากทั้งหมดนี้ ปีหนึ่งๆ ฟาร์มแห่งนี้จะมีรายได้หลังค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 6.6 ล้านบาท

“ผมมีลูก 2 คน คนหนึ่งเรียนจบด้านสัตวศาสตร์ อีกคนเรียนจบด้านประมง ตอนนี้ทุกคนช่วยทำงานอยู่ในฟาร์ม รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชุมชน โดยลูกของผมจะออกไปยังพื้นที่ของเกษตรกรที่พร้อมเป็นเครือข่ายช่วยให้บริการเกี่ยวกับการผสมเทียม การจัดการดูแลสุขภาพสัตว์ เพื่อให้สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย”

ทั้งนี้ เป้าหมายของศรีภักดีฟาร์มที่วางไว้ในอนาคตคือ การพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่เกิดการรวมกลุ่มและร่วมกับทางฟาร์มในลักษณะของการเป็นเครือข่าย เพื่อผลิตสินค้าปศุสัตว์จำหน่าย รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้เจ้าของฟาร์มให้เหตุผลว่า เพราะฟาร์มจะเดินไปด้วยตัวเองคนเดียวไม่ได้ ต้องเอาชาวบ้านไปด้วย จึงจะประสบความสำเร็จ

  • “ตอนนี้ผมมองว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนมีรายได้ไปพร้อมๆ กับฟาร์ม ดังนั้น จะต้องมีการสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อน และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เครือข่ายที่สร้างขึ้นเราจะมีตราสินค้าเป็นของตนเองเพื่อสร้างตลาดขึ้นมา”

สำหรับการจำหน่ายผลผลิตของฟาร์มในปัจจุบัน พี่สุพันธ์ บอกว่า ตลาดจะแบ่งออกเป็น 2 แหล่งใหญ่ๆ โดยหนึ่ง เป็นตลาดภายในพื้นที่ ซึ่งมีความต้องการทั้งส่วนที่เป็นสัตว์มีชีวิตและเนื้อชำแหละ

  • “ผมมองตลาดภายในเป็นหลักก่อนตอนนี้ ใครต้องการ วัว หมู ปลา มาซื้อได้โดยตรงที่ฟาร์ม จะเอาไปทั้งแบบตัวเป็นมีชีวิต หรือจะให้ฆ่าและชำแหละให้ได้หมด แต่ถ้าปริมาณสัตว์เหลือเกินกว่าที่ตลาดในพื้นที่รับได้ ผมจะส่งขายให้กับทางพ่อค้าเพื่อส่งไปจำหน่ายยังตลาดของประเทศเพื่อนบ้าน” พี่สุพันธ์ กล่าว

ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทางศรีภักดีฟาร์ม ใช้วิธีการตลาดแบบเลี้ยงเองขายเองแบบนี้ เพราะต้องการเพิ่มมูลค่าสินค้าในฟาร์มของตนเอง

  • “ถ้าเราไม่ชำแหละขาย ให้พ่อค้ามาจับ เราจะได้ราคาต่ำ อย่างวัวตัวหนึ่งถ้าให้พ่อค้ามาจับ เราจะได้เงินเพียง 30,000 บาท แต่ถ้าเรามีการชำแหละขายเอง จะได้เงินถึงตัวละ 50,000 บาททีเดียว”

ข้อมูลโดย : https://www.technologychaoban.com/livestock-technology/article_402

Share

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ (เรียนรู้เพิ่มเติม)