พื้นที่แขวงทรายกองดินและทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่เกษตรกรรมชานเมือง เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือการทำนา แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคาข้าวค่อนข้างตกต่ำทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดน้อยลง ไม่เพียงต่อการใช้จ่ายในครัวเรือน หลายรายจึงเริ่มมองหาอาชีพ ทั้งเพื่อเพิ่มรายได้และเพื่อความมั่นคงด้านอาหารของครอบครัวและชุมชน
คุณโสภา ชูชมชื่น เป็นหนึ่งในเกษตรกรเมืองกรุงฯ ที่มีความคิดดังกล่าว และเมื่อทางสำนักงานเกษตรพื้นที่ 1 เข้ามาสนับสนุนให้มีการทำอาชีพเสริม ภายใต้โครงการ “9101” คุณโสภาที่เดิมเคยมีประสบการณ์ในการเลี้ยงเป็ดไข่จึงรวมกลุ่มขอรับการสนับสนุนให้เกิดกลุ่มส่งเสริมเลี้ยงเป็ดไข่และการแปรรูปขึ้น โดยมีสมาชิกมาเข้าร่วมทั้งหมด 45 คน แบ่งเป็นกลุ่มย่อย 7 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะได้เลี้ยงเป็ดไข่กลุ่มละ 200 ตัว โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนทั้งแม่เป็ดไข่และการสร้างคอกโรงเรือนที่เหมาะสม
“ที่พี่เลือกทำโครงการเลี้ยงเป็ดไข่ เพราะครั้งหนึ่งภาครัฐเคยมาสนับสนุน ตอนนั้นให้เลี้ยงครอบครัวละ 10 ตัว ซึ่งก็ได้ผลผลิตดี เลี้ยงได้เป็ดไม่ตาย อีกทั้งมีไข่ไว้บริโภค พอมีโครงการเข้ามาให้เกษตรกรรวมกลุ่มนำเสนอโครงการก็เลยชักชวนคนในชุมชนเลี้ยงเป็ดไข่ เพราะนอกจากรายได้เสริมจากการขายไข่สด ไข่เป็ดยังนำไปแปรรูปได้หลากหลายมากกว่าไข่ไก่ มีราคาดีกว่า และที่สำคัญที่เรามุ่งเน้นจริง ๆ คือการมีแหล่งอาหารสำหรับบริโภคในครัวเรือนก่อน เมื่อเหลือจึงขายและแปรรูป”
การเลี้ยงเป็ดของทางกลุ่มฯ จะเริ่มจากซื้อแม่เป็ดไข่ “กากี แคมป์เบลล์” อายุประมาณ 4 เดือนครึ่ง ราคาตัวละ 160 บาท จากฟาร์มเพาะขยายพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน มีการทำวัคซีนเรียบร้อยแล้ว นำมาเลี้ยงต่อประมาณ 1 เดือนก็จะเริ่มให้ผลผลิตไข่ได้
โดยเลี้ยงในโรงเรือนขนาด 5×4 เมตร ตัวโรงเรือนทำจากโครงเหล็กเพื่อความแข็งแรง มีมุ้งเหล็กป้องกันสุนัข มุงหลังคาด้วยแผ่นเมทัลชีท พื้นด้านในโรงเรือนเป็นดินแข็งปนทราย ปรับพื้นที่ให้ราบเสมอกัน ฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อโรคแล้วปล่อยทิ้งไว้ 7 วัน โรยแกลบจนทั่วโรงเรือนก่อนนำเป็ดลงเลี้ยง
รูปแบบของโรงเรือนนั้นสมาชิกใช้เหมือนกันทั้งหมด นอกจากตัวโรงเรือนที่ใช้เป็นโรงนอนและฟักไข่ รอบโรงเรือนยังกั้นพื้นที่ไว้สำหรับให้เป็ดได้เดินเล่นพักผ่อน มีสระให้เป็ดว่ายน้ำในช่วงที่ไม่ได้ปล่อยเป็ดลงทุ่ง มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ทำให้เป็ดที่เลี้ยงแบบกึ่งปิดกึ่งปล่อยนั้นเป็นเป็ดอารมณ์ดี ไม่เครียดเหมือนการเลี้ยงแต่ในคอกเพียงอย่างเดียว
ในส่วนของอาหารทางกลุ่มจะผสมขึ้นเองโดยมีหัวอาหารและวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เพราะเดิมเคยเลี้ยงเป็ดไข่มาก่อน เพราะเคยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐครอบครัวละ 10 ตัว ซึ่งตอนนั้นการเลี้ยงก็เน้นให้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่นหยวกกล้วยกับรำผสมหัวอาหารอีกนิดหน่อย แต่ตอนนั้นจำนวนที่เลี้ยงยังไม่มากเท่านี้
พอมาเลี้ยงเยอะก็ลองปรับสูตรจนมาเป็นสูตรที่ใช้ในปัจจุบันที่ยังเน้นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายเหมือนเดิม คือหยวกกล้วยที่เราปลูกอยู่แล้ว รำกับข้าวเปลือกก็จากนาข้าวของเราเอง ที่เพิ่มเติมเข้ามาและมีประโยชน์มากคืออีเอ็มที่จะช่วยในเรื่องลดกลิ่นจากมูลของเป็ดได้อย่างดี
การทำอาหารเป็ดสูตรลดต้นทุนให้นำวัตถุทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน และจะให้เป็ดกินวันละ 3 เวลา คือเช้า-กลางวัน-เย็น เฉลี่ยแล้วเป็ดจะกินอาหารวันละ 150 กรัม/ตัว/วัน สูตรอาหารที่มีการผสมวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นลงไป ทำให้ได้ผลผลิตไข่ใบโต ไข่แดงมีสีแดงสวยสด
ต่างจากการเลี้ยงด้วยหัวอาหารเพียงอย่างเดียวที่ไข่แดงจะมีสีออกเหลืองมากกว่า ที่สำคัญทำให้ประหยัดมากกว่าการให้แต่เพียงหัวอาหารมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และจะประหยัดมากขึ้นไปอีกในช่วงที่ปล่อยเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง
สูตรอาหารเป็ดของกลุ่ม
- หัวอาหารเป็ดสำเร็จรูป 2 กิโลกรัม
- หยวกกล้วยหั่นหรือสับเป็นชิ้น 1 กิโลกรัม
- รำข้าว 5 กิโลกรัม
- ข้าวเปลือก 1 กิโลกรัม
- อีเอ็ม 3 ช้อนโต๊ะ
ต่อยอดสู่ไข่เค็มแปรรูป สร้างจุดขายด้วยไข่เค็มเหยาะน้ำผึ้ง🍯
เป็ดไข่กากี แคมป์เบลล์นั้น ตามปกติจะให้ไข่ได้อย่างต่อเนื่องนาน 2 ปี หากบำรุงดูแลอย่างดีก็จะได้นานถึง 3 ปี ซึ่งทางกลุ่มเลี้ยงมาได้ประมาณ 1 ปีครึ่งก็ยังให้ผลผลิตไข่มีเปอร์เซ็นต์ที่สูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันทางกลุ่มเก็บไข่ได้สัปดาห์ละเกือบ 1,000 ฟอง/แม่เป็ด 200 ตัว เน้นขายเป็นไข่สดแก่คนในชุมชนก่อน โดยไข่ที่เก็บได้จะแบ่งเป็น 4 ขนาด คือ 60-64 กรัม, 65 กรัม, 66-70 กรัม และขนาดจัมโบ้ 70 กรัมขึ้นไป เมื่อเหลือจึงนำมาดองโดยไข่ที่เหมาะกับการนำมาดองมากที่สุดคือขนาด 65 กรัม
การดองของทางกลุ่มจะดองในโอ่งขนาดเล็ก และใช้ระยะเวลาต่างกัน เพื่อให้ได้ระดับความเค็มแตกต่างกัน ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย แบ่งเป็นความเค็มน้อยใช้เวลาดอง 14 วัน ความเค็มปานกลางใช้เวลาดอง 18 วัน และความเค็มมากใช้เวลาดอง 22 วัน