โคบาลหนุ่มเมืองย่าโม จัดการฟาร์มแบบครบวงจร

“หากให้มองอาชีพเลี้ยงโคนม สำหรับผมเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่ดีและตอบโจทย์มาก ทำแล้วมีความสุขได้ใช้ชีวิตอยู่ในฟาร์มนี่คือชีวิตที่ผมอยากให้เป็น ไม่เคยคิดเสียใจเลยที่เลือกมาทำอาชีพเลี้ยงโคนม…” คุณนคร กาบขุนทด เจ้าของฟาร์มโคนม “นคร ฟาร์ม”

เมื่อเริ่มอิ่มตัวกับการทำงานในเมืองใหญ่ เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มมองหาช่องทางในการประกอบอาชีพอื่น บ้างผันตัวทำธุรกิจส่วนตัว บ้างก็อยากกลับบ้านเกิดทำอาชีพเกษตรกร เช่นเดียวกับ คุณนคร กาบขุนทด โคบาลหนุ่มในวัย 38 ปี เจ้าของฟาร์มโคนม “นคร ฟาร์ม” ตั้งอยู่ที่ 414 ม.5 ตำบลตะเคียน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ที่ตัดสินใจทิ้งงานประจำมาจับอาชีพพระราชทานอย่างการเลี้ยงโคนมด้วยการจัดการฟาร์มแบบครบวงจรตามแนวคิดของเกษตรกรหัวก้าวหน้าจนสามารถสร้างรายได้หลักแสนบาท/เดือน

ทิ้งงานประจำ… สร้างฟาร์มตามฝัน

คุณนครเล่าถึงจุดเริ่มต้นของอาชีพโคบาลแห่งเมืองด่านขุนทดให้ฟังว่า ก่อนหน้านั้นตนเองทำงานเป็นช่างอิเล็กทรอนิกส์มากว่า 15 ปี พอเริ่มเกิดความอิ่มตัวและอยากกลับมาเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด จึงตัดสินใจเลือกเลี้ยงโคนมด้วยเหตุผลง่าย ๆ ณ ตอนนั้นว่า นี่คืออาชีพที่เท่ เจ้าของฟาร์มเหมือนเป็นโคบาลในหนังคาวบอย

ภายหลังศึกษาข้อมูลการเลี้ยงผ่านอินเทอร์เน็ตจนได้จังหวะเหมาะก็หอบเงินเก็บทั้งหมดกว่า 600,000 บาท มาเริ่มต้นเลี้ยงโคนมอย่างจริงจังที่บ้านเกิด เริ่มจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์โคนมด่านขุนทด จำกัด และเข้ารับการอบรมกับ อ.ส.ค. (องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย) จากนั้นก็ทำคอกวัวทำเป็นเพิงพักหลบฝนหลบแดดและซื้อวัวนมสาวท้องสายพันธุ์โฮลส์ไตน์ฟรีเชียน หรือพันธุ์ขาว-ดำ มาทั้งหมด 7 ตัว

“แต่การเลี้ยงโคนมในปีแรกไม่ได้เท่อย่างที่คิด ล้มลุกคลุกคลานเจอวิกฤติวัวป่วย สาเหตุหลักคือเรื่องอาหาร การเตรียมวัวก่อนคลอดไม่ถูกต้อง ขุนจนอ้วนเกินไป รักษาไม่เป็น เราก็จัดการไม่ได้เพราะไม่มีประสบการณ์ไม่มีความรู้ เริ่มจากศูนย์ รีดนมก็ยังทำไม่เป็น ทุกอย่างแย่มากจนแทบจะปิดฟาร์มไปเลย แต่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ จากกลุ่มสหกรณ์ ค้นคว้าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ความรู้จากอาจารย์หมอ และกรมปศุสัตว์ที่คอยให้คำแนะนำตลอด จนสามารถผ่านพ้นวิกฤติในช่วงนั้นมาได้” โคบาลหนุ่มเล่าถึงวิกฤติเลี้ยงโคนมในปีแรกให้ฟัง

เมื่อรู้สาเหตุของปัญหาว่าเกิดจากอาหาร เพราะเดิมให้อาหารข้นเพียงอย่างเดียวทำให้วัวกินอาหารได้น้อย ทางกรมปศุสัตว์แนะนำให้ปรับเป็นอาหาร TMR (Total mixed Ration) หรืออาหารสำเร็จรูปที่นำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกัน และหญ้าเนเปียร์เพื่อให้วัวได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน พอปรับตามคำแนะนำดังกล่าวปัญหาวัวป่วย วัวไม่กินอาหารก็แทบจะไม่มีเลย

ลดต้นทุนด้วยอาหาร TMR หมดปัญหาวัวป่วย

ปัจจุบัน “นคร ฟาร์ม” ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 3 มีการจัดการฟาร์มอย่างมืออาชีพ โดยพื้นที่ทั้งหมด 25 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ฟาร์ม 5 ไร่ ปลูกข้าว 10 ไร่ และปลูกหญ้าเนเปียร์กับข้าวโพดรวม 10 ไร่ ตัวโรงเรือนที่อยู่มีลักษณะสูง โปร่ง โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก แยกกับบริเวณที่ให้อาหาร ป้องกันคอกสกปรกเลอะเทอะเพราะวัวกินและขับถ่ายภายในคอก เมื่อจะให้อาหารจะพาวัวไปกินอีกที่หนึ่ง เมื่อวัวกินและขับถ่าย ขี้วัวในฟาร์มก็ไม่ปล่อยให้ไร้ประโยชน์นำไปเป็นปุ๋ยใช้ในแปลงหญ้าเนเปียร์และแปลงข้าวโพดที่ปลูกไว้ ขณะที่เศษฟางที่นำมาเสริมให้วัวที่เริ่มให้น้ำนมน้อยและวัวดรายก็มาจากข้าวที่ปลูก ฉะนั้นทุกอย่างจะถูกหมุนเวียนอยู่ในฟาร์มทั้งหมด

สำหรับพื้นที่ฟาร์มจะแบ่งโซนเลี้ยงเป็นวัวให้นมมาก ให้นมปานกลาง วัวที่เริ่มให้นมน้อย วัวรุ่น และวัวดราย เพราะวัวแต่ละประเภทจะกินอาหารไม่เหมือนกัน เช่น ถ้าเป็นวัวที่เริ่มให้น้ำนมน้อยแต่ให้อาหารมากก็จะเปลืองต้นทุน ฉะนั้นเมื่อแบ่งโซนแล้วทำให้สามารถจำกัดปริมาณอาหารและง่ายต่อการจัดการด้วย

โดยวัวแต่ละประเภทจะวัดจากปริมาณน้ำนมที่ได้ในแต่ละวัน ในฟาร์มมีวัวตัวเมียทั้งหมด 44 ตัว ตัวผู้ 10 ตัว แบ่งสัดส่วนเป็นวัวให้นมมาก ได้ 25-40 กิโลกรัม/ตัว/วัน 18 เปอร์เซ็นต์ วัวให้นมปานกลางจะได้ 20-25 กิโลกรัม/ตัว/วัน 16 เปอร์เซ็นต์ และวัวที่เริ่มให้น้ำนมน้อยปริมาณน้ำนมต่ำว่า 20 กิโลกรัม/ตัว/วัน 14 เปอร์เซ็นต์

วัวทั้ง 3 ประเภทจะเลี้ยงด้วยอาหาร TMR เฉลี่ยวันละ 40 กิโลกรัม/ตัว/วัน ให้วันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น ครั้งละ 20 กิโลกรัม โดยส่วนผสมหลักของอาหาร TMR ที่ใช้จะเป็นหญ้าเนเปียร์ ข้าวโพดหมัก เปลือกมันล้าง กากถั่วเหลือง ถั่วอบ กากมอลต์ และเสริมแร่ธาตุที่จำเป็นอย่างแคลเซียม สูตรนี้ใช้ได้ทั้งฟาร์มโดยอัตราส่วนไม่เหมือนกันจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการให้น้ำนมของวัวแต่ละประเภท

คุณนครให้ข้อมูลน่าสนใจว่า พอมาปรับให้เป็นอาหาร TMR ซึ่งส่วนผสมหลักอย่างหญ้าเนเปียร์และข้าวโพดที่ปลูกเอง ร่วมกับส่วนผสมอื่น ๆ อย่างกากถั่วเหลือง ถั่วอบ กากมอลต์ที่ซื้อเข้ามาแต่ก็อยู่ในปริมาณไม่มากนัก ช่วยให้ต้นทุนการผลิตอาหาร TMR เฉลี่ยอยู่ประมาณ 2 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น

และด้วยระบบการจัดการแบบครบวงจรภายในฟาร์มก็ช่วยลดต้นทุนลงได้ครึ่งต่อครึ่งเหลือประมาณ 60,000-70,000 บาท/เดือน และเมื่อวัวได้รับอาหารที่ดีไม่เจ็บป่วยง่ายให้น้ำนมเยอะจึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับการรักษา สามารถรีดน้ำนมได้อย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละ 380 ลิตร/วัน หรือคิดเป็น 18 ลิตร/ตัว/วัน ทั้งหมดส่งขายให้กับสหกรณ์โคนมด่านขุนทดเพียงแห่งเดียวในราคาลิตรละ 18.50 บาท เมื่อรวมรายรับที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย แต่ละเดือนจะได้ประมาณ 100,000-150,000 บาท เลยทีเดียว กำไรที่ได้มาจะไปลงทุนกับเครื่องจักรที่ใช้ภายในฟาร์มและขยายพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์

“ทุกวันนี้การจัดการฟาร์มจะช่วยกันทำกับภรรยา 2 คน ดูแลเองทั้งหมด ตั้งแต่การปลูกหญ้าเนเปียร์ โดยที่ฟาร์มเราติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 9 แผง โดยหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำจากบ่อบาดาลและสระสำหรับใช้ในการเกษตร และผลิตแสงสว่างภายในฟาร์ม กิจวัตรในแต่ละวันหลัก ๆ จะให้อาหารวัวช่วงเช้าประมาณ 8-9 โมงก็เสร็จ จากนั้นก็ไปตัดหญ้าแต่ถ้าวันไหนมีหญ้าในสต๊อกก็นอนพักผ่อน ช่วงบ่ายก็รีดนมวัวและไปสูบน้ำใส่ร่องหญ้าวนเวียนแบบนี้ทุกวัน” คุณนครอธิบายถึงการจัดการฟาร์มเพิ่มเติม

ฝากถึงผู้สนใจอาชีพการเลี้ยงโคนม

การเลี้ยงวัวให้มีรายได้หลักแสนบาท/เดือน คุณนครบอกว่า หลัก ๆ ต้องลดต้นทุนด้านอาหารให้ได้ เช่นการให้อาหาร TMR ตามประเภทของแม่โครีด การจัดการความสะอาดภายในคอก และที่สำคัญต้องรักที่จะเลี้ยง เข้าใจนิสัย รู้จักการกิน เข้าใจธรรมชาติของวัว ไม่ใช่เลี้ยงเพื่อให้ได้นมเพียงอย่างเดียว อย่างวัวชอบกินหญ้าก็ให้หญ้าเต็มที่ได้เลย เมื่อเลี้ยงวัวให้แข็งแรงมีความสุข ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพก็แทบตัดทิ้งไปได้เลย
เกษตรกรที่สนใจอยากเลี้ยงโคนมหรืออยากปรึกษาด้านการจัดการฟาร์มแบบครบวงจรสามารถแวะเข้ามาเยี่ยมชมได้ที่ “นคร ฟาร์ม” หรือโทร. 09-5667-0523

ข้อมูลโดย : https://www.facebook.com/agriculturemag/posts/2304926999544880?__tn__=-R

Share

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้แก่ท่านได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ท่านอย่างเป็นส่วนตัวได้ การเก็บและใช้งานคุกกี้สามารถศึกษาได้ที่นโยบายการใช้คุกกี้นี้ การใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีการจัดเก็บคุกกี้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งท่านต้องยอมรับและยินยอมให้บริษัทฯ จัดเก็บ (เรียนรู้เพิ่มเติม)