ตลาดของเนื้อโคนั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลายระดับ โคพื้นเมืองที่เลี้ยงด้วยวิถีดั้งเดิมหรือเลี้ยงแบบปล่อยทุ่งก็ยังเป็นที่ต้องการจำนวนมากเช่นกัน เกษตรกรหลายรายจึงยังยึดอาชีพเลี้ยงโคพื้นเมืองเลี้ยงปากท้องได้อย่างดี
คุณสมพงษ์ เทียมเสวก อยู่บ้านเลขที่ 7/1 ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เป็นคนหนึ่งที่ยึดอาชีพการเลี้ยงโคพื้นเมืองที่ต้องกวาดต้อนพาฝูงโคออกหาอาหารมาตั้งแต่เมื่อ 13 ปีก่อน โดยเริ่มต้นจากการเลี้ยงโคเพียง 5 ตัวได้รับมอบจากทางราชการ ขณะที่เกษตรกรคนอื่นทยอยขายไปจนหมด แต่สมพงษ์เลี้ยงขายลูกโคเลี้ยงครอบครัวมาได้ สามารถส่งลูก ๆ เรียนจบได้ทั้งหมด และขยายฝูงจากโคเพียง 5 ตัวแรก สู่ฝูงโคพื้นเมืองใหญ่ที่สุดของอำเภอหนองเสือ คือ 65 ตัว (ในช่วงที่มากที่สุดมีถึง 80 ตัว)
คุณสมพงษ์บอกว่า ตนเองนั้นเป็นคนหนองเสือโดยกำเนิด เดิมทีทำนาเหมือนเพื่อนบ้าน พอเขาหันมาทำสวนส้มก็ทำบ้าง ทำให้ไม่พ้นประสบปัญหาเรื่องโรคระบาดเหมือนคนอื่น ๆ จนเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เจ๊งจากสวนส้ม ระหว่างที่ครอบครัวกำลังยากลำบาก หนี้สินล้นพ้นตัวก็มีโครงการจากภาครัฐเข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคพื้นเมือง และได้แจกจ่ายโคไทยบราห์มันที่ทางกรมปศุสัตว์พัฒนาขึ้น ให้ครอบครัวละ 1 ตัว ซึ่งที่บ้านของคุณสมพงษ์อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ 5 ครอบครัว จึงได้โคมาเลี้ยงทั้งสิ้น 5 ตัว โดยคุณสมพงษ์ขอรับหน้าที่เลี้ยงทั้งหมด
“ใจผมอยากเลี้ยงอยู่แล้ว แต่วัวตัวหนึ่งมีราคาสูงเกินที่เราจะซื้อหา เพราะก่อนหน้านี้ทำนาทำสวนก็เจ๊ง โชคดีมากที่ภาครัฐแจกโคให้และได้โคพันธุ์นี้มาเลี้ยง เพราะเลี้ยงง่าย กินง่าย แข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วยอะไร เลี้ยงจนได้ลูกโตอายุประมาณ 1 ปีก็จำหน่ายได้แล้ว โดยมีพ่อค้าเจ้าประจำเข้ามารับซื้ออยู่ตลอด รวมถึงในช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูง ก็จะมีพ่อค้าขาจรที่ได้รับการบอกต่อเข้ามาซื้อเรื่อย ๆ ทุกวันนี้รายได้หลักก็มาจากการขายลูกวัว”
“การพาวัวออกไปหากินนี่แหละเป็นเรื่องยาก ทำให้หลายคนอดทนไม่ไหวจนเลิกเลี้ยงไปหมด เพราะเป็นงานที่ห้ามหยุด ห้ามลา ห้ามพัก ฝนจะตกหรือแดดจะออกก็ต้องไป เพราะวัวมันจะต้องกินอาหารทุกวัน จะหยุดหรือหาอาหารมาให้ก็ไม่ไหว เพราะฝูงใหญ่ เราคนเดียวหาอาหารให้มันไม่ไหว ต้องให้มันหากินเองนี่แหละ โดยเราจะพาไปหากินตามที่สาธารณะหรือที่ร้างหาเจ้าของไม่ได้ ซึ่งเราเป็นคนในพื้นที่ก็จะรู้อยู่แล้วว่าตรงไหนไปได้หรือไม่ได้ ”
คุณสมพงษ์บอกว่า การเลี้ยงวิธีนี้มีข้อดีคือต้นทุนต่ำ ที่สำคัญวัวได้กินอาหารที่หลากหลาย ทั้งหญ้าหลากหลายชนิดที่ขึ้นตามธรรมชาติ รวมถึงพืชสมุนไพรที่ขึ้นอยู่ทั่วไป อาทิ บอระเพ็ด ตะไคร้ ข่า ฟ้าทะลายโจร ซึ่งจะช่วยให้โคสุขภาพแข็งแรง ลดการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งทำให้ต้นทุนน้อยกว่าการเลี้ยงโคแบบยืนคอกเป็นเท่าตัว
การเลี้ยงโคของคุณสมพงษ์ใช้วิธีพาเขาไปหาอาหารกินตามธรรมชาติหรือไล่ทุ่ง นึกภาพตามให้ง่าย ๆ เวลาใช้เส้นทางสัญจรตามเส้นทางหลวงชนบท หลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์หยุดรถให้เกษตรกรกวาดต้อนฝูงโคข้ามถนนไปเสียก่อน ซึ่งนั่นแหละคือฝูงโคที่ถูกกวาดต้อนไปหาอาหารตามไหล่ทางหรือริมคลองชลประทาน รวมถึงพื้นที่สาธารณะและสถานที่ถูกทิ้งร้าง
ซึ่งต้องใช้ประสบการณ์ของผู้เลี้ยงในการพาฝูงโคเข้าไปหากิน การเลี้ยงโคลักษณะนี้เป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกรที่เลี้ยงโคพื้นเมือง จะว่าไปก็เหมือนการเลี้ยงแบบเป็ดไล่ทุ่ง ทว่าโคนั้นเป็นสัตว์ใหญ่และกินจุมากกว่าเป็ด ผู้เลี้ยงจึงต้องคอยดูแลและพาฝูงโคออกหากินค่อนข้างไกลในแต่ละวัน อย่างสมพงษ์จะเริ่มพาฝูงโคออกไปหากินตั้งแต่เช้าประมาณ 09.00-10.00 น. กว่าจะกลับเข้ามาก็ตกเย็นหรือประมาณ 17.00 น.
“อาชีพการเลี้ยงโค ถ้าอดทนได้ก็สบายทุกคน โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรก เพราะโคสาวที่เราได้มาต้องเลี้ยงอย่างน้อย 1 ปี จึงจะผสมพันธุ์ได้จากนั้นตั้งท้องไปอีกนาน 9 เดือน เมื่อคลอดท้องแรกออกมาต้องมาลุ้นว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย หากเป็นตัวเมียก็ยังขายไม่ได้ต้องเก็บไว้ขยายฝูงก่อน ซึ่งลูกโคที่คลอดออกมาก็ต้องใช้เวลาเลี้ยงไปอีกร่วม 1 ปีจึงจะขายได้ รวมแล้วถ้าโชคดีได้ลูกตัวผู้อาจขายได้ใน 3 ปี แต่ตอนผมเลี้ยงลูกโครุ่นแรกได้ตัวเมียก็ต้องเก็บไว้ทั้งหมด เลี้ยงจนผสมและขายได้ในรุ่นที่ 2 หรือประมาณ 5 ปี แต่ลองคิดดูว่า 5 ปีได้ลูกไว้ขายตัวเดียว มันพอกินหรือไม่ ไม่พออย่างแน่นอน”
ด้วยเหตุนี้ช่วง 5 ปีแรกจึงยากลำบากอย่างที่สุด คุณสมพงษ์ต้องขอประนอมหนี้กับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเริ่มเลี้ยงไก่ไข่และเป็ดไข่ รวมถึงปลูกพืชผักไว้บริโภคเองภายในครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีรายได้สำคัญจากมูลโคที่ยังเก็บจำหน่ายมาถึงปัจจุบัน
นอกจากเลี้ยงโคคุณสมพงษ์ยังเลี้ยงสัตว์อีกหลายชนิดในบริเวณบ้าน ทั้งไก่ไข่ เป็ดเนื้อ รวมถึง “หนูนา” ที่เจ้าตัวเป็นผู้บุกเบิกการเลี้ยงในแถบนี้เลยทีเดียว
คุณสมพงษ์ขายพ่อแม่พันธุ์คู่ละ 1,000 บาท ส่วนลูกหนูขายตัวละ 100 บาท มีคนเข้ามาซื้อหาเป็นประจำจนเป็นอีกหนึ่งรายได้ ไม่รวมเป็ดเนื้อบาร์บารีที่เลี้ยงขุนขายทุก 3 เดือน และไข่ไก่ที่ทั้งขายและเก็บไว้บริโภคลดค่าใช้จ่าย การทำปศุสัตว์รอบบริเวณบ้านของคุณสมพงษ์จึงเป็นต้นแบบอย่างดีของเกษตรกรที่เริ่มทุกอย่างจากศูนย์ อดทนกระทั่งให้สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะโคพื้นเมืองกลับมาเป็นฝ่ายสร้างรายได้เลี้ยงดูคนเลี้ยง หมดหนี้สิน สมาชิกในครอบครัวได้อยู่อย่างมีความสุข
ข้อมูลโดย : https://www.facebook.com/agriculturemag/posts/2130156507021931?__tn__=-R